بسم الله الرحمن الرحيم
عَنْ أَبِيْ سَعِيْد الخُدْرِيْ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ عَنِ النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم
قَالَ : مَايُصِيْبُ المُسْلِمَ مِنْ نَصَبٍ وَلا صَبٍ، وَلا هَمٍّ وَلا حَزَنٍ ،وَلا أَذَى وَلا غَمٍّ
حَتَى الشَّوْكَةُ يُشَاكُهَا إِلاَّ كَفَّرَ اللهُ بِهَا مِنْ خَطَايَاهُ
متفق عليه
ความว่า “ไม่มีสิ่งใดจะประสบกับมุสลิมจากความยากลำบาก โรคภัยไข้เจ็บ ความกลัดกลุ้ม ความเศร้าเสียใจ ภัยอันตราย ความหม่นหมอง หรือแม้กระทั่งหนามที่ทิ่มตำเขา นอกจากอัลลอฮ์จะทรงลบล้างความผิดต่างๆ(เล็กๆน้อยๆ)ให้แก่เขา
บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์และมุสลิม
ประวัติผู้รายงานฮะดีษ
ท่านอบูสะอี๊ด สะอฺดิ บินสินาน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เป็นซอฮาบะฮ์ท่านหนึ่งของท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นชาวมะดีนะฮ์จากตระกูลค็อสร็อจญ์ บิดาของท่านสิ้นชีวิตเป็นชะฮีดในสงครามอุฮุด ซึ่งในขณะนั้นท่านมีอายุได้ 13 ปี ท่านเล่าว่า ขณะที่บิดาของฉันเข้าร่วมในสงครามอุฮุดนั้น ท่านพาฉันไปพบกับท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เพื่อขออนุญาตให้ฉันเข้าร่วมสงครามด้วย โดยกล่าวว่า โอ้ท่านร่อซูล ลูกชายของข้าพเจ้ากระดูกแข็งแล้ว เมื่อท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มองดูฉัน ท่านก็สั่นหน้าไม่ยอมรับ เพราะเห็นว่าฉันยังเด็กอยู่ หลังจากนั้น เมื่อท่านอายุได้ 15 ปี ท่านก็ได้มีโอกาสเข้าสู่สมรภูมิอะฮฺซ๊าบ มีผู้กล่าวว่า “ท่านเข้าสู่สนามรบพร้อมกับท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถึง 12 ครั้ง นับตั้งแต่สมรภูมิอะฮฺซ๊าบเป็นต้นมา
นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้รายงานฮะดีษมากที่สุดเป็นคนที่ 7 ฮะดีษที่ท่านรายงานมีจำนวน 1,170 ฮะดีษ ที่ปรากฏอยู่ในอัลบุคอรีย์และมุสลิมจำนวน 111 ฮะดีษ ที่เป็นการเห็นพ้องต้องกันของอิมามบุคอรีย์และมุสลิมจำนวน 43 ฮะดีษ ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ 16 ฮะดีษ ในบันทึกของอิมามมุสลิมจำนวน 52 ฮะดีษ นอกจากนั้นอยู่ในตำราฮะดีษต่างๆอีกมากมาย มีผู้กล่าวว่า “ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้มากที่สุดในบรรดาซอฮาบะฮ์ที่มีอายุน้อย
ท่านกล่าวว่า “การที่บิดาของฉันถูกฆ่าตายเป็นชะฮีดในคราวสงครามอุฮุดนั้น ท่านทิ้งเราโดยไม่มีทรัพย์สมบัติใดๆแม้แต่เล็กน้อย วันหนึ่งฉันไปหาท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่พอท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เห็นฉัน ท่านกล่าวว่า “ผู้ใดแสดงความอิ่มหรือพอเพียง อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ก็ทรงให้เขามีความพอเพียง เมื่อฉันได้ยินท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม พูดเช่นนี้ ฉันก็นึกในใจทันทีว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม คงไม่ได้หมายถึงใครนอกจากฉันเท่านั้น ฉันจึงรีบกลับทันที
ท่านอบูสะอี๊ด สะอฺดิ บินสินาน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ สิ้นชีวิต ณ นครมะดีนะฮ์ ในวันศุกร์ เมื่อ ฮ.ศ. 74 ขณะที่ท่านมีอายุได้ 94 ปี
คำอธิบายจากฮะดีษนี้
จากฮะดีษนี้ พูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์นั้นไม่ได้ดำเนินไปในรูปแบบเดียวหรือหนทางที่เจาะจงแน่นอนตลอดไป แต่จะผันเปลี่ยนไประหว่างความดี ความชั่ว ผลประโยชน์ ความเดือดร้อน บางครั้งประสบกับความเสียใจ บางครั้งประสบกับความสุขสบาย
ดังที่อัลลอฮ์ ตรัสว่า
وَتِلْكَ الأَيَّامُ نُدَاوِلُهَا بَيْنَ النَّاسِ
ความว่า “ และบรรดาวันเหล่านั้นเราได้ให้มันหมุนเวียนไประหว่างมนุษย์”
(อาลอิมรอน 3 : 140)
สำหรับบ่าวที่มีความศรัทธาอย่างแท้จริง เขาจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ในทุกๆสภาพการณ์ พี่น้องครับ เมื่อเราประสบกับความยากลำบากหรือเดือดร้อน เขาก็อดทนยอมรับ และนอบน้อมต่อกำหนดสภาวะการณ์ (กอฎอกอดัร) ที่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงกำหนดให้แก่พวกเรา และรู้ดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพื่อเป็นบาป หรือโทษแก่เรา พึงทราบดีว่า การช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นั้นจะประสบแก่ผู้ที่มีความอดทน และแท้จริงพร้อมๆกับความยากลำบากนั้น มีความสะดวกสบาย เขาจะขอความช่วยเหลือต่ออัลลอฮ์ ซุบฮานะฮุวะตะอาลา ในสิ่งที่ได้ประสบกับเขาและรอคอยการตอบแทนด้วยความอดทนในสิ่งที่พระองค์ทรงสัญญาไว้
พระองค์ตรัสว่า
إِنَّمَا يُوَفَّى الصَّابِرُوْنَ أَجْرَهُمْ بِغَيْرِ حِسَابٍ
ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ที่อดทนนั้นจะได้รับการตอบแทนรางวัลของพวกเขาอย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องคำนวณ” (อัซซุมัร 39 :10)
และเมื่อพวกเรามีความสุขสบายพวกเราก็เป็นผู้ที่ขอบคุณ ความโปรดปรานจากอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ก็จะเพิ่มพูนแก่เขา และเขาก็ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆตามแนวทางคำสอนของอิสลาม อันสูงส่งทำให้ชีวิตในดุนยาของเขาเป็นชีวิตที่ดีงาม และเช่นเดียวกัน บั้นปลายของเขาในวันอาคิเราะฮ์นั้นก็จะได้รับความโปรดปรานและความสุขตลอดไป
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เคยบอกเราถึงลักษณะของมุอฺมิน ผู้ศรัทธา ผู้ใดได้รับผลประโยชน์ในทุกเรื่องและทุกๆสภาพว่า
عَجَبًا لأَمْرِ المُؤْمِنِ إِنَّ أَمْرَهُ كُلَّهُ خَيْرُ إِنْ أَصَابَهُ سَرَّاءُ شَكَرَفَكَانَ لَهُ خَيْرُ ، وَإِنْ أَصَابَهُ ضَرَّاءُ صَبَرَ فَكَانَ لَهُ خَيْرُ ، وَلَيْسَ كُلُّ أَحَدٍ إِلاَّ لِلْمُؤْمِنِ
ความว่า “น่าแปลกใจสำหรับเรื่องของมุอฺมิน แท้จริงเรื่องต่างๆของเขานั้นเป็นความดีทั้งสิ้น หากว่าเขาได้รับความสุขสบายแล้วเขาก็ขอบคุณนั้นก็เป็นความดีสำหรับเขาและถ้าหากว่าเขาประสบความยากลำบากแล้วเขาก็มีความอดทนนั้นก็เป็นความดีสำหรับเขา และไม่มีผู้ใดจะได้รับเช่นนี้ นอกจากผู้ศรัทธาเท่านั้น” บันทึกโดยอิมามมุสลิมและอะอฺหมัด
ความอดทนนั้นเป็นพื้นฐานของรุก่นอิสลาม และการปฏิบัติอิบาดะฮ์ แท้จริงแล้วบทบัญญัติทางศาสนานั้นต้องอาศัยการอดทนเพื่อที่จะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามรูปแบบที่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงประสงค์ เช่น การละหมาด การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนก็เป็นการประกอบอิบาอะฮ์ และการอิบาดะฮ์ทั้งสองอย่างนี้ต้องมีการอดทนทั้งสิ้น
ดังนั้นบทบัญญัติของอิสลามและการปฏิบัติอิบาดะฮ์อยู่บนพื้นฐานความอดทนดังแบบอย่างของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม คือแบบอย่างอันสูงส่ง และดีงามต่อการอดทนต่อการอิบาดะฮ์
มีรายงานจากท่านอิบนิมัสอู๊ด ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า
صَلَّيْتُ مَعَ النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم لَيْلَةً فَأَطَالَ القِيَامَ حَتَّى هَمَمْتُ بِأَمْرِ سُوْءٍ قِيْلَ : وَمَا هَمَمْتَ بِهِ ؟ قَالَ : هَمَمْتُ أَنْ أَجْلِسَ وَأَدَعَهُ
ความว่า “ฉันได้เคยละหมาดพร้อมกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในคืนหนึ่ง ท่านยืนละหมาดยาวนานมาก จนฉันตั้งใจจะทำเรื่องไม่ดี มีคนถามเขาว่า “ ท่านตั้งใจจะทำอะไรหรือ? เขากล่าวว่า “ฉันตั้งใจจะนั่งลงแล้วปล่อยให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ละหมาดต่อไป” บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์และมุสลิม
ความอดทนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในขณะที่เราต้องเผชิญกับความทุกข์ยากและความคับแค้นใจ และความยากลำบากในการดำเนินชีวิต อัลกุรอานได้เรียกร้องให้มนุษย์ต่อสู้และแก้ไขความยากลำบากด้วยความอดทนและพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนจากอัลลอฮ์
وَلَنَبْلُوَنَّكُمْ بِشَئٍ مِنَ الخَوْفِ وَالجُوْعِ وَنَقْصٍ مِّنَ الأَمْوَالِ وَالأَنْفُسِ وَالثَّمَرَاتِ وَبَشِّرِ الصَّابِرِيْن
الَّذِيْنَ إِذَا أَصَابَتْهُمْ مُصِيْبَةٌ قَالُوا إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّا إِلَيْهِ رَاجِعُوْن أُولئِكَ عَلَيْهِمْ صَلَوَاتٌ مِّنْ رَّبِّهِمْ وَرَحْمَةٌ وَأُولئِكَ هُمُ المهْتَدُوْنَ
ความว่า “และแน่นอนเราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากความกลัว ความหิว และความสูญเสียจากทรัพย์สมบัติ ชีวิต และพืชผล และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด คือบรรดาผู้ที่เมื่อมีเคราะห์ภัยมาประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็จะกล่าวว่าแท้จริงพวกเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ และแท้จริงพวกเราจะกลับไปยังพระองค์ ชนเหล่านี้แหละพวกเขาจะได้รับคำชมเชยและการเอ็นดูเมตตาจากพระเจ้าของพวกเขา และชนเหล่านี้แหละคือผู้ได้รับแนวทางอันเที่ยงธรรม” (อัลบะกอเราะฮ์(155 – 157)
แท้จริงการเจ็บป่วยไข้หรือป่วยเป็นโรคต่างๆนั้น เป็นการลบล้างและชำระความผิดเล็กๆน้อยๆที่เขาผู้นั้นกระทำ และเมื่อเขาผู้นั้นเจ็บป่วยเขาก็อดทนต่อสิ่งที่เขากำลังประสบ เขาก็จะได้รับผลตอบแทนและรางวัลจากอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ความตายที่พรากชีวิตของผู้ที่เป็นที่รักหรือคนใกล้ชิดนั้นถือว่าเป็นภัยบะลาอฺ อันยิ่งใหญ่ และเมื่อมนุษย์สามารถอดทนและยอมรับกำหนดสภาวการณ์ (กอฎอกอดัร) ที่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกำหนดให้แก่พวกเรา ก็จะได้รับผลตอบแทนอันยิ่งใหญ่และในเวลาเดียวกัน ความเจ็บปวดที่เขารู้สึกก็จะเบาบางลงไปจนกระทั่งหมดไปในที่สุด ดังนั้นมุอฺมินผู้ศรัทธาที่มีความอดทนนั้นจะจัดการกับเรื่องต่างๆของเขาด้วยสติปัญญาไหวพริบแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการพิจารณาและการไตร่ตรอง แต่เมื่อคนหนึ่งคนใดประสบภัยพิบัติ ความทุกข์ยาก ความลำบากในชีวิตและเขาหมดหวัง สิ้นหวัง และไม่พึงพอใจกับการกำหนด (กอฎอกอดัร) ของอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มีความรู้สึกอยากจะตายจากโลกนี้ไป เพื่อจะได้พ้นจากการใช้ชีวิตอย่างลำบากในดุนยานี้ การกระทำดังกล่าวถือว่าไม่เป็นผู้มีความอดทนอีกทั้งยังค้านกับการอีมานของเขาอีกด้วย
มีรายงานจากท่านอะนัสร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านร่อซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
لاَ يَتَمَنَّيَنَّ أَحَدُكُمُ الموْتَ لِضُرٍّ أَصَابَهُ ، فَإِنْ كَانَ لاَبُدَّ فَاعِلاً فَلْيَقُلْ : اللّهُمَّ أَحْيِنِيْ مَاكَانَتِ الحَيَاةُخَيْرًالِيْ ، وَتَوَفَّنِيْ إِذَا كَانَتِ الْوَفَاةُ خَيْرًا لِيْ
ความว่า “คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านอย่าได้ปรารถนาที่จะตาย อันเนื่องมาจากความยากลำบากที่มาประสบแก่เขา ดังนั้นหากจำเป็นต้องกระทำก็จงกล่าวว่าว “โอ้อัลลอฮ์ ได้โปรดให้ข้าพระองค์มีชีวิตอยู่ หากว่าการมีชีวิตอยู่นั้นเป็นการดีแก่ข้าพระองค์ และขอพระองค์ได้โปรดเอาชีวิตข้าพระองค์ เมื่อความตายเป็นการดีแก่ข้าพระองค์” บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์และมุสลิม
สิ่งที่ได้รับจากฮะดีษ
1 – ฮะดีษนี้พูดถึงการเผชิญกับภัยบะลาอฺด้วยความอดทน
2 – แท้จริงผู้ศรัทธานั้นจะต้องถูกสอบสวน
3 – บ่าวที่อดทนต่อความยากลำบาก เขาจะได้รับรางวัลตอบแทน ณ ที่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
4 – สำหรับคนที่อดทนต่อภัยบะลาอฺและความทุกข์ยาก ความผิดต่างๆของเขาก็จะถูกลบล้างให้สิ้นไป