การอธิบายอัลกุรอานด้วยวิทยาศาสตร์

หมวดหมู่ : ,

·

·

การอธิบายอัลกุรอานด้วยวิทยาศาสตร์
เรียบเรียงโดย อ.มุบาร็อก แดงโกเมน

                       มนุษย์ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของเอกภพที่กว้างใหญ่ไพศาล คำถามหนึ่งที่จะต้องเกิดขึ้นในความคิดของบรรดามนุษย์นั้นก็คือ เอกภพอันกว้างใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยเอกภาพและระบบระเบียบอันน่าทึ่งนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร….?  มันเกิดขึ้นมาด้วยตัวของมันเองหรือมีผู้ที่ทรงให้สิ่งต่างๆเหล่านี้บังเกิดขึ้นมา…? ดังกล่าวนี้คือคำถามที่มนุษย์นับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบันต่างสงสัยและพยายามที่จะหาคำตอบต่อสิ่งดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา…แต่นั่นไม่ใช่กับบรรดามุสลิมอย่างแน่นอน ทั้งนี้ก็เพราะว่าบรรดามุสลิมนั้นต่างทราบและยอมรับกันโดยดุษฎีว่า ผู้ที่ทรงบังเกิด ผู้ที่ทรงควบคุมบริหารสิ่งต่างๆเหล่านี้นั้นคือ อัลลอฮ์

                         เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้นั้นอัลลอฮ์   ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราะฮ์อาละอิมรอน อายะฮ์ที่189- 191 ไว้ดังนี้ว่า 

﴿ وَلِلَّهِ  مُلۡكُ  ٱلسَّمَٰوَٰتِ  وَٱلۡأَرۡضِۗ  وَٱللَّهُ  عَلَىٰ  كُلِّ  شَيۡءٖ  قَدِيرٌ﴾

189- และอำนาจแห่งบรรดาชั้นฟ้า และแผ่นดินนั้นเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ และอัลลอฮ์นั้นทรงเดชานุภาพ เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง

إِنَّ  فِي  خَلۡقِ  ٱلسَّمَٰوَٰتِ  وَٱلۡأَرۡضِ  وَٱخۡتِلَٰفِ  ٱلَّيۡلِ  وَٱلنَّهَارِ  لَأٓيَٰتٖ  لِّأُوْلِي  ٱلۡأَلۡبَٰبِ  ﴿

190- แท้จริงในการสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน และการที่กลางวันและกลางคืนตามหลังกันนั้น แน่นอนมีหลายสัญญาณสำหรับผู้มีปัญญา

﴿ الَّذِينَ يَذْكُرُونَ اللَّهَ قِيَامًا وَقُعُودًا وَعَلَى جُنُوبِهِمْ وَيَتَفَكَّرُونَ فِي خَلْقِ السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضِ رَبَّنَا مَا خَلَقْتَ هَذَا بَاطِلا سُبْحَانَكَ فَقِنَا عَذَابَ النَّارِ﴾

191- คือบรรดาผู้ที่รำลึกถึงอัลลอฮ์ ทั้งในสภาพยืน และนั่ง และในสภาพที่นอนตะแคง และพวกเขาพินิจพิจารณากันในการสร้างบรรดาชั้นฟ้า และแผ่นดิน (โดยกล่าวว่า) โอ้พระเจ้าของพวกเข้าพระองค์ พระองค์มิได้ทรงสร้างสิ่งนี้มาโดยไร้สาระ มหาบริสุทธิ์พระองค์ท่าน โปรดทรงคุ้มครองพวกข้าพระองค์ให้พ้นจากการลงโทษแห่งไฟนรกด้วยเถิด

                        อายะฮ์ดังกล่าวข้างต้นได้เตือนผู้ศรัทธาทั้งหลายว่าให้ใคร่ครวญต่อสัญญาณต่างๆของอัลลอฮ์  ให้พิจรณาว่าท้องฟ้าและแผ่นดินมีความยิ่งใหญ่เพียงใด สิ่งต่างๆเหล่านั้นอัลลอฮ์   ทรงบังเกิดขึ้นมาได้อย่างไร…? ทุกครั้งที่มองไปยังท้องฟ้า ให้การมองเป็นการมองที่ทำให้หัวใจรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่และเดชานุภาพของอัลลอฮ์   ที่ทรงบังเกิดสิ่งต่างๆเหล่านั้นขึ้นมาอย่างง่ายดาย.

                        ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาได้มีทฤษฏีและการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยมีผลมาจากความก้าวทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ดังกล่าวทำให้สิ่งที่ไม่เคยได้รับรู้และเห็นมาในครั้งอดีตได้ทราบในยุคปัจจุบัน จนกระทั่งได้มีผู้ที่พยายามนำเอาทฤษฏีหรือข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์เข้ามาประกอบการอธิบายอัลกุรอาน แม้ว่าหากพิจรณาอย่างผิวเผินแล้วอาจดูมีความเป็นไปได้หรือมีความใกล้เคียงกัน ซึ่งนักวิชาการได้มีการตีความและอธิบายอายะฮ์ที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวนี้ให้ไปตรงกับกับทฤษฏีดังกล่าวหรือพยายามอธิบายทฤษฏีดังกล่าวให้ตรงกับอัลกุรอาน เช่น กลุ่มปัญญานิยม กลุ่มกอดยานีย์ ดร.ชากิร นาอิค (หรือชากิร ไนท์) และในเมืองไทยก็มีผู้ที่พยายามนำเสนอเรื่องดังกล่าวนี้เหมือนกัน. เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวได้มีการนำเอาทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายอัลกุรอานหรือนำเอาวิทยาศาสตร์มาอธิบายเพื่อให้เข้ากับอายะฮ์หนึ่งอายะฮ์ใดในกุรอาน เช่น เรื่อง บิ๊กแบง เป็นต้น. ซึ่งการอธิบายในลักษณะนี้นั้นสามารถกระทำได้หรือไม่…?

                          ซึ่งปัญหาและสิ่งดังกล่าวนี้มีการถกเถียงกันอย่างมากมายในหมู่นักวิชาการมุสลิม  ซึ่งในบทความชิ้นนี้จะขอนำเสนอทัศนะความเห็นของนักวิชาการร่วมสมัยในประเด็นดังกล่าวที่ยึดมั่นอยู่ในแนวทางแห่งบรรพชนที่ดีในยุคแรก (สละฟุศซอและฮ์) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าการยึดถือในทัศนะความเห็นนี้ตามความเห็นของบรรดาท่านเหล่านั้นคือสิ่งที่สมควรอย่างยิ่ง ดีและปลอดภัยที่สุดสำหรับมุสลิมที่ปรารถนาที่จะดำเนินรอยตามท่านเหล่านั้น ซึ่งจะนำเสนอโดยสังเขปดังนี้ มีทัศนะความเห็นอย่างไรในประเด็นดังกล่าวนี้.

ทัศนะความเห็นของเชคอุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์

                               ท่านเชคอิบนุอุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์ ได้กล่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้เอาไว้ในหนังสือของท่านที่ชื่อว่า (“مجموع فتاوى ورسائل ابن عثيمين”) เล่มที่ 26 หน้าที่ 28 ไว้ดังนี้ว่า:“ความมหัศจรรย์ทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นข้อเท็จจริงนั้น เราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องดังกล่าว  เราไม่ปฏิเสธว่าแน่แท้ในอัลกุรอานนั้นมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ถูกเปิดเผยรายละเอียดขึ้นในยุคหลังๆ แต่ทว่า..ผู้คนบางส่วนนั้นได้ทำให้เกิดการเลยเถิดไปมากในความมหัศจรรย์ทางวิทยาสาสตร์นี้ จนกระทั่งเราได้เห็นว่ามีผู้ที่ทำให้อัลกุรอานเป็นเหมือนกับตำราทางคณิตศาสตร์  ซึ่งดังกล่าวนี้คือสิ่งที่ผิด  ฉะนั้นแล้วเราอยากบอกว่า การเลยเถิดในประเด็นเรื่องการยืนยันถึงความมหัศจรรย์ทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่ไม่บังควร  ทั้งนี้ก็เพราะว่าเรื่องหรือประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นเพียงเรื่องที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานทางทฤษฏีเพียงเท่านั้น และทฤษฏีแนวคิดต่างๆนั้นก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ตรงกัน  ดังนั้นเมื่อเราได้ทำให้อัลกุรอานเป็นหลักฐานรองรับต่อแนวคิดหรือทฤษฏีใดๆก็ตามนั้น ต่อมาภายหลังก็มีข้อค้นพบและหลักฐานที่มาบ่งชี้ว่าแนวคิดและทฤษฏีดังกล่าวนั้นมีความไม่ถูกต้องและผิดไปจากข้อเท็จจริง ดังกล่าวนั้นก็เท่ากับว่าข้อบ่งชี้ที่เป็นหลักฐานของอัลกุรอานที่รับรองเรื่องดังกล่าวนั้นจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและผิดพลาดไป  ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งยวด  ด้วยเหตุนี้เองจึงต้องให้ความสำคัญและเอาใจใส่ต่ออัลกุรอานและซุนนะฮ์ (แบบอย่างของท่านนบีทั้งจากคำพูด การกระทำและการยอมรับ) ในการอธิบายและชี้แจงรายละเอียดในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งในเรื่องอิบาดะฮ์ (ศาสนพิธี) และในเรื่องมุอามะลาต (ภาคสังคมเช่น การซื้อขาย การใช้ชีวิตในสังคม เป็นต้น)ซึ่งได้มีการอธิบายใว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน  หรือแม้กระทั่งมรรยาทในการรับประทานอาหาร มรรยาทในการนั่ง และจรรยามรรยาทต่างๆอีกมากมาย แต่ทว่า…องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับจักรวาลนั้น ไม่ได้มีการอธิบายและชี้แจงเอาใว้โดยละเอียด. ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เองฉันเองกลัวว่าผู้คนทั้งหลายนั้นจะยึดติดอยู่กับความมหัศจรรย์ทางวิทยาศาสตร์โดยหมกมุ่นวุ่นวายอยู่กับสิ่งดังกล่าวจนลืมในสิ่งที่สำคัญที่สุดไป ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการทำให้อิบาดะฮ์นั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ เพราะอัลกุรอานถูกประทานลงมาด้วยกับเหตุผลดังกล่าว ดังดำรัสของอัลลอฮ์   ที่ว่า 

﴿ وَمَا خَلَقْتُ الْجِنَّ وَالْإِنْسَ إِلَّا لِيَعْبُدُونِ﴾

ความว่า :และข้ามิได้สร้างญิน และมนุษย์เพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่อเคารพภักดีต่อข้า

 ข้อชี้ขาดปัญหาศาสนา คณะถาวรในการวินิจฉัยและชี้ขาดปัญหาศาสนาแห่งประเทศซาอุดิอารเบีย[1]

            คำถาม. อะไรคือข้อชี้ขาดทางศาสนาในการอรรถาธิบายอัลกุรอาน ซึ่งถูกเรียกว่า “การอรรธถาธิบายทางวิทยาศาสตร์”  (التفاسير العلمية)? และอะไรคือขอบเขตของศาสนาในการที่อายะฮ์ต่างๆของอัลกุรอนบางส่วนมีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์..? ซึ่งปัญหาและสิ่งดังกล่าวนี้มีการถกเถียงกันอย่างมากมาย.[2]

           คำตอบ. หากว่าสิ่งดังกล่าวมาจากพื้นฐานของการอรรธถาธิบายอัลกุรอาน ซึ่งได้มีการอธิบายดำรัสของอัลลอฮ์   ที่ว่า

 ﴿ أَوَلَمْ يَرَ الَّذِينَ كَفَرُوا أَنَّ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضَ كَانَتَا رَتْقًا فَفَتَقْنَاهُمَا وَجَعَلْنَا مِنَ الْمَاءِ كُلَّ شَيْءٍ حَيٍّ ﴾ (الأنبياء:30)

            โดยอธิบายว่า แผ่นดินหรือโลกนั้นเคยติดเป็นเนื้อเดียวกันอยู่กับดวงอาทิตย์และเป็นส่วนหนึ่งของดวงอาทิตย์ และเนื่องจากการหมุนอย่างรุนแรงของดวงอาทิตย์ ก็ทำให้แผ่นดินหรือโลกนั้นแยกตัวออกมา  หลังจากนั้นพื้นผิวของโลกก็เกิดการเย็นตัวลง และยังคงหลงเหลือความร้อนของเปลือกโลกอยู่ และกลายเป็นส่วนหนึ่งจากดวงดาวต่างๆที่โครจรอยู่รอบๆดวงอาทิตย์ ซึ่งหากว่าเป็นการอรรธถาธิบายในทำนองดังกล่าวนี้นั้น  ก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรนำมาและไม่สมควรที่จะไปยึดถือต่อการอรรธถาธิบายดังกล่าว เนื่องด้วยการ      อรรธถาธิบาย (ตัฟซีร) ดังกล่าวนั้นเป็นการยึดถือบนทัศนะความเห็นใหม่ๆ ซึ่งทัศนะความเห็นดังกล่าวนั้นไม่มีพื้นฐานมาจากอัลกุรอาน จากซุนนะฮ์ และจากถ้อยคำของชาวสลัฟ (บรรพชนที่ดีในยุคแรก)….เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าเป็นการกล่าวพาดพิงต่ออัลลอฮ์  โดยปราศจากองค์ความรู้.

ทัศนะของเชคซอและฮ์อัลเฟาซาน ฮะฟิเฏอะฮุ้ลลอฮ์

                     คำถาม. ในช่วงระยะหลังๆมานี้ได้มีตำราและเทป ซีดีต่างๆมากมายที่มีการพูดถึงเรื่องความมหัศจรรย์ของอัลกุรอานและความสอดคล้องกันของทัศนะความเห็นต่างๆเหล่านี้ต่อบรรดาอายะฮ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องในประเด็นดังกล่าวนี้ .อะไรคือหลักเกณฑ์หรือกฎเกณฑ์ที่สำคัญในเรื่องดังกล่าว …? และอะไรคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับบรรดานักศึกษาต่อเรื่องดังกล่าว…?

                        คำตอบ. การอรรธถาธิบายอัลกุรอานที่ถูกต้องและมีหลักเกณฑ์นั้น ดังกล่าวมีแนวทางที่บรรดาอิมามทางด้านตัฟซีรได้บอกเอาไว้ว่า การตัฟซีรนั้นจะไม่ตัฟซีรด้วยกับแนวทางอื่นๆ นอกเหนือจากแนวทางดังกล่าวนี้ คือ.

อรรธถาธิบายอัลกุรอานด้วยกับอัลกุรอาน

อรรธถาธิบายอัลกุรอานด้วยกับซุนนะฮ์

อรรธถาธิบายอัลกุรอานด้วยกับการอรรธถาธิบายของบรรดาซอฮาบะฮ์

อรรธถาธิบายอัลกุรอานด้วยกับการอรรธถาธิบายของบรรดาตาบีอีน

อรรธถาธิบายอัลกุรอานด้วยกับภาษาที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา คือภาษาอาหรับ 

                       ดังกล่าวนี้คือทิศทางการอรรธถาธิบายอัลกุรอาน ส่วนการอธิบายที่นอกเหนือไปจากทิศทางนี้นั้น มันคือสิ่งที่เป็นแนวคิดใหม่ๆที่ไม่มีรากฐานที่มาใดๆเลย และไม่อนุญาตให้ทำการอรรธถาธิบายอัลกุรอานด้วยกับการใช้ทัศนะความเห็นมาทำการอธิบาย ท่านอิหม่ามฮาฟิซอิบนิกะษีรได้บอกเอาไว้ในช่วงแรกของตำราตัฟซีรของท่าน คือฮะดีษอันทรงคุณค่าที่ว่า “ผู้ใดที่กล่าวในเรื่องของอัลกุรอานด้วยกับทัศนะความเห็นของเขา โดยที่เขาไม่มีองค์ความรู้…ดังนั้นเขาจงตระเตรียมที่นั่งของเขาในไฟนรก และถือเป็นความผิด ถึงแม้ว่าในเชิงนัยยะความหมายดังกล่าวจะถูกต้องก็ตาม” (คำฟัตวาเลขที่ 2255 วันที่ 3/4/2006)

                        หลักการและแนวทางที่ถูกต้องนั้น การทำความเข้าใจและการอธิบายโองการต่างๆในอัลกุรอานนั้นต้องอาศัยการอธิบายของปวงปราชญ์หรือนักอรรถาธิบายอัลกุรอานที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ (มุฟัสซิรีน) ที่ถูกยอมรับโดยเฉพาะ ปราชญ์ที่อรรถาธิบายอัลกุรอานในยุคสลัฟ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดหรือการมีความเข้าใจไม่ตรงกับบรรดาซอฮาบะฮ์และบรรชนที่ดีในยุคแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นดังกล่าวนี้นั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักการเชื่อมั่น (อะกีดะฮ์) ฉะนั้นการอธิบายใดๆก็ตามในเรื่องที่มนุษย์ไม่มีองค์ความรู้มากพอ หรืออัลลอฮ์ทรงไม่ได้แจ้งให้มนุษย์ทราบนอกจากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องไม่บังควรหรือเหมาะสมอย่างยิ่งที่เราจะทำการอธิบายเรื่องดังกล่าวโดยอาศัยหลักทฤษฏีที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาหรือข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์ตราบใดที่สิ่งดังกล่าวนั้นยังมีการโต้เถียงกันอยู่. ดังกล่าวนั้นนับว่าเป็นอันตรายต่อมุสลิมเป็นอย่างมากในด้านหลักศรัทธา และเป็นสิ่งที่น่าตำหนิเป็นอย่างมากสำหรับบุคคลที่อ้างตัวว่าดำเนินตามแนวทางแห่งสลัฟและยึดมั่นในกิตาบุลลอฮ์และซุนนะฮ์. والله أعلم


[1] คณะถาวรในการวินิจฉัยและชี้ขาดปัญหาศาสนาประกอบไปด้วย เชค อับดุลลอฮ์ บินกุอูต คณะกรรมการ เชค อับดุลลอฮ์ บินฆุดัยยาน คณะกรรมการ เชค อับดุลรอซาก อะฟีฟีย์ รองประธาน เชค อับดุลอะซีร บินอับดุลลอฮ์ บินบาซ ประธาน

[2] คำถามที่ 3 จากข้อชี้ขาดปัญหาศาสนา หมายเลข 9247.


อ่านบทความอื่นๆ

ดูตามหมวดหมู่

ดูตามคำค้น

รอมฏอน ละหมาด