** ประมวลองค์ความรู้และหลักการพื้นฐานของการอรรธถาธิบายอัลกุรอาน (อุศูลุตตัฟซีร) **
โดย อ.มุบาร็อก แดงโกเมน (ตอนที่1)
** บทความนี้เนื่องจากมีความยาวจึงแบ่งออกเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 จะกล่าวถึงประมวลองค์ความรู้และหลักการพื้นฐานของการอรรธถาธิบายอัลกุรอาน (อุศูลุตตัฟซีร) ตอนที่ 2 จะกล่าวถึงแนวทางของชาวสลัฟในการตัฟซีรอัลกุรอานและหลักฐานที่สนับสนุนในเรื่องนี้.
อัลกุรอานคือดำรัสของอัลลอฮ์ที่ทรงประทานให้แก่ท่านนบีมุฮัมหมัดด้วยภาษาอาหรับ โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญๆ คือ เพื่อเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่รับรองและยืนยันถึงการเป็นนบีของมุฮัมหมัด และเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ผาสุขทั้งในโลกนี้และอาคิเราะฮ์ ดังกล่าวนี้เองจึงทำให้ดังนั้นการศึกษาและทำความเข้าใจอัลกุรอานจึงเป็นสิ่งที่บรรดามุสลิมนับตั้งแต่ในยุคสมัยท่านนบีมุฮัมหมัดจนถึงปัจจุบันให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดการอรรธถาธิบายอัลกุรอาน (ตัฟซีร) และตำราในศาสตร์แขนงนี้เกิดขึ้นมากมายจากบรรดาปวงปราชญ์และนักวิชาการทั้งในยุคอดีตและปัจจุบัน ทั้งที่ถูกยอมรับและไม่ถูกยอมรับ แต่ประเด็นปัญหาก็คือ…แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่านักตัฟซีรคนใดอธิบายดำรัสของอัลลอฮ์ได้ถูกต้อง ตำราตัฟซีรเล่มใดที่เราควรจะยึดถือและนำมาใช้อ้างอิงเป็นหลักฐาน…? การตัฟซีรแบบใดที่ควรหลีกเลี่ยง…? ซึ่งสิ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจในประเด็นดังกล่าวนี้ได้ก็คือ เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับประมวลองค์ความรู้และหลักการพื้นฐานของการอรรธถาธิบายอัลกุรอานหรือที่เรียกว่า (อุลูมุ้ลกุรอาน) หรืออุศูลตัฟซีร ให้ดีเสียก่อน โดยเฉพาะบรรดานักศึกษาศาสนา ซึ่งโดยปรกติแล้วนักศึกษาทางด้านศาสนาจะต้องเรียนวิชาดังกล่าวนี้ในขั้นพื้นฐานกันทุกคน ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยและป้องกันความผิดพลาดจากการเข้าใจและอธิบายในดำรัสของอัลลอฮ์ผิด โดยเฉพาะในเรื่องหลักการศรัทธา (อะกีดะฮ์) และสิ่งที่เร้นลับพ้นญานวิสัยของมนุษย์ เป็นต้น.
ผู้เขียนจึงเห็นว่าสมควรที่จะสรุปองค์ความรู้พื้นฐานในด้านนี้พอสังเขป ในประเด็นต่างๆของการตัฟซีร ทั้งนี้เพื่อที่จะช่วยให้สามารถเข้าใจและเป็นแนวทางที่ถูกต้องแก่ผู้ที่ต้องการศึกษาอัลกุรอานและปรารถนาให้ได้รับทางนำและประโยชน์จากอัลกุรอานที่แท้จริง อินชาอัลลอฮ์. ดังนี้
1. ความหมายของตัฟซีร ในทางภาษาและวิชาการ
2. เงื่อนไขและจรรยามรรยาทของผู้ที่จะทำการตัฟซีร
3. ประเภท แนวทางของการตัฟซีร
4.นักตัฟซีรที่เป็นที่ยอมรับในการนำมาอ้างอิงการตัฟซีรอัลกุรอานและตำราตัฟซีรของพวกเขา
5. แนวทางของสลัฟในการตัฟซีรอัลกุรอานและหลักฐาน. (แบ่งเป็นตอนที่ 2)
** 1. ความหมายของตัฟซีร **
ความหมายทางภาษา. หมายถึง การอธิบายแจกแจง การทำให้กระจ่างชัดและการเปิดเผย
ความหมายทางวิชาการ .หมายถึง ศาสตร์ที่ว่าในเรื่องของการอธิบายความหมายของอัลกุรอาน ว่าในเรื่องข้อชี้ขาดทางศาสนา (อะฮ์กาม) และคำต่างๆของอัลกุรอาน
ฉะนั้นการตัฟซีร ก็คือศาสตร์ที่ถูกประมวลไปด้วยองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะในด้านการอ่าน (วิธีการและรูปแบบ) อายะฮ์ที่มายกเลิก (นาซิค) และอายะฮ์ที่ถูกยกเลิก (มันซูค) หรือทางด้านสาเหตุของการประทานอายะฮ์ลงมา รูปแบบในการเขียน,หรือทางด้าน ความมหัศจรรย์ของอัลกุรอาน, สำนวนโวหารของอัลกุรอาน,การยกตัวอย่างในอัลกุรอาน ด้านข้อชี้ขาดทางศาสนา (อะฮ์กาม) ประวัติเรื่องราวในอัลกุรอานและการรวบรวม หรือทางด้านการอธิบายคำและความหมายของอัลกุรอาน และองค์ความรู้ในด้านอื่นๆอีกมากมาย
** 2. เงื่อนไขและจรรยามรรยาทของผู้ที่จะทำการอรรธถาธิบาย(ตัฟซีร) อัลกุรอาน **
การอรรถธาธิบายหรือตัฟซีรอัลกุรอานไม่ใช่เรื่องที่ง่าย ทั้งนี้ก็เพราะว่าอัลกุรอานคือดำรัสของอัลลอฮ์ ซึ่งจะมีความผิดพลาดไม่ได้… ฉะนั้นจึงจำเป็นที่บุคคลทั่วไปจะต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการอรรธถาธิบายและการชี้แจงรายละเอียดต่างๆในอัลกุรอาน นอกจากให้บรรดาปราชญ์ที่เป็นคนดีๆ ครบถ้วนในองค์ประกอบและเงื่อนไขของนักตัฟซีร ทั้งในด้านการยึดมั่นศรัทธา(อะกีดะฮ์) ในด้านองค์ความรู้แขนงต่างๆและจรรยามรรยาทที่ดีงาม ท่านนบีได้เตือนผู้ที่ทำการอรรธถาธิบายอัลกุรอานและกล่าวถึงอัลกุรอานโดยไม่มีความรู้.
ดังรายงานจากท่านอิบนิอับบาส ร่อดิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า ท่านนบีมุฮัมหมัด ได้กล่าวว่า “ผู้ใดที่กล่าวถึงอัลกุรอานโดยที่ไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับกุรอาน ดังนั้นเขาจงตระเตรียมที่นั่งของเขาในไฟนรก” (บันทึกโดยติรมิซีย์)
ซึ่งแน่นอนว่าบรรดาซอฮาบะฮ์ บรรดาตาบีอีนและบรรดา อิมามที่ยึดมั่นในแนวทางของบรรดาซอฮาะฮ์ ตาบีอีนและชาวสลัฟจะระมัดระวังอย่างมากในการอธิบายอัลกุรอานโดยที่พวกเขาไม่มีความรู้ ส่วนผู้ที่กล่าวถึงอัลกุรอานหรือทำการอธิบายอัลกุรอานด้วยความรู้ ความเชี่ยวชาญทั้งในด้านภาษาและหลักการอิสลามที่ครอบคลุม ดังกล่าวนี้ถือว่าอนุญาตให้กระทำได้ซึ่งบรรดาอุละมาอฺได้วางเงื่อนไขและจรรยาบรรณของผุ้ที่จะทำการตัฟซีรที่สำคัญๆไว้ดังนี้
1. หลักการเชื่อมั่น (อะกีดะฮ์) ต้องใสสะอาด บริสุทธิ์ถูกต้อง คือหลักการยึดมั่นต้องยึดถือตามแนวทางแห่งกิตาบุ้ลลอฮ์ ซุนนะฮ์ ยึดตามแนวทางแห่งซอฮาบะฮ์และสลัฟซอและฮ์ จะต้องไม่รับแนวทางการอธิบายของกลุ่มบิดอะฮ์ เช่น กลุ่มมุอฺตะซิละฮ์ กลุ่มญะอฺมียะฮ์ กลุ่มบาฏินียะฮ์ แนวทางซูฟีสุดโต่งและกลุ่มกุบูรียะฮ์ (หลุมศพนิยม) กลุ่มปัญญานิยม กลุ่มกอดยานีย์ เป็นต้น ดังกล่าวนี้ ผู้ที่ตัฟซีรผิดแผกแตกต่างไปจากแนวทางของชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ การตัฟซีรดังกล่าวนั้นถือว่าไม่ถูกตอบรับและยอมรับเป็นอันขาด.
2. รู้และเข้าใจภาษาอาหรับเป็นอย่างดี รากฐานแรกที่สำคัญในการเข้าใจหลักการศาสนาและการวินิจฉัยฮุก่มทางศาสนาคือการจำอัลกุรอาน การเข้าใจเนื้อหาของอัลกุรอานและศาสตร์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอัลกุรอานรวมทั้งรู้ลึกถึงข้อปลีกย่อยต่างๆทั้งหมดที่มีอยู่ในอัลกุรอาน เป็นไปไม่ได้ที่คนๆ หนึ่งจะเข้าใจและอรรธถาธิบายอัลกุรอานได้อย่างถูกต้องนอกจากเขาต้องชำนาญและเชี่ยวชาญในภาษาอาหรับและเข้าใจถึงความลับในถ้อยคำและประโยคของมัน เข้าใจในสำเนียงของชนเผ่าต่างๆของชาวอาหรับและสามารถเข้าถึงวาทศิลป์ทางภาษาอาหรับได้เป็นอย่างดีไม่เช่นนั้นแล้ว เขาจะหลงทางหรือตีความผิดไปจากเจตนารมณ์และดำรัสของอัลลอฮ์ที่ได้ตรัสไว้
3. ครอบคลุมองค์ความรู้รอบด้าน ทั้งอุลูมุ้ลกุรอาน อุศูลุตตัฟซีร เช่นความรู้เกี่ยวกับการอ่าน อายะฮ์ที่มายกเลิก (นาซิค) และอายะฮ์ที่ถูกยกเลิก (มันซูค) ทางด้านสาเหตุของการประทานอายะฮ์ลงมา การกล่าวแบบเจาะจงและกล่าวแบบองค์รวม มักกีย์กับมะดะนีย์ และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับอัลกุรอาน
4. ยึดการตัฟซีรแบบสายรายงาน (تفسير با المأثور) ที่ถูกรายงานจากท่านนบี จากซอฮาบะฮ์และจาก อิมามที่เชี่ยวชาญในการตัฟซีร
. 5. มีความเข้าใจในหลักการอิสลามอย่างดีและครอบคลุมในทุกๆด้าน
6. ยึดมั่นอยู่ตามแนวทางแห่งซุนนะฮ์ มีจรรยามรรยาทที่ดีงาม เคร่งครัด อ่อนน้อมถ่อมตน ให้เกียรติแก่บรรดาผู้รู้ และอ้างอิงความรู้จากพวกเขา ไม่ละทิ้งสิ่งที่เป็นซุนนะฮ์ ไม่ทำบาป ทำสิ่งที่ขัดกับจรรยาบรรที่ดีงาม เช่น พูดโกหก ไม่รักษาอะมานะฮ์ เป็นต้น
** 3. ประเภทของการอรรธถาธิบายอัลกุรอาน (ตัฟซีร) **
(1) การตัฟซีรด้วยกับสายรายงาน (تفسير با المأثور)
การศึกษาภาษาอาหรับถือเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อที่จะได้เข้าใจความหมายของประโยคคำพูดของชนอาหรับ วิธีการพูด และสำนวนโวหารในการให้ความกระจ่าง เนื่องจากอัลกุรอานนั้นถูกประทานลงมาด้วยภาษาอาหรับ และด้วยวิธีการสื่อสารสื่อความหมายของชนชาวอาหรับที่เต็มไปด้วยความงดงามของศิลปะโวหาร มีการใช้การอุปมาอุปมัย เปรียบเทียบยกตัวอย่าง การสลับตำแหน่งของประโยคเพื่อสื่อความหมายที่เจาะจงลงไป การย่อในบางที่ และสาธยายยืดยาวในบางที่ตามความเหมาะสม ฉะนั้นพวกเขาจึงมีความเข้าใจในประโยค เข้าใจคำของภาษาอาหรับเป็นอย่างดี โดยท่านนบีได้ทำการอธิบายกุรอานให้บรรดาซอฮาบะฮ์ฟัง หลังจากนั้นบรรดาซอฮาบะฮ์ก็ได้ทำการถ่ายทอดต่อกันมาในสิ่งที่ได้ยินมาจากท่าน นบี โดยที่พวกเขาจะไม่อธิบายในสิ่งที่ไม่ได้ยินมา และการกระทำเช่นนี้ก็ถ่ายทอดสืบต่อกันมาในหมู่ชนแห่งสลัฟ เรียกการตัฟซีรประเภทนี้ว่า การตัฟซีรด้วยกับสายรายงาน (تفسير با المأثور) คือถูกถ่ายทอดมาจากท่านนบี
**การตัฟซีรประเภทนี้คือแนวทางที่บรรดาที่อิหม่ามและปวงปราชญ์ที่ยึดมั่นในแนวทางแห่งกิตาบุ้ลลอฮ์และซุนนะฮ์ ทั้งในยุคสลัฟและบรรดาผู้ที่ยึดมั่นในแนวทางของพวกเขายึดถือมาจนถึงปัจจุบัน.
(2) การตัฟซีรด้วยกับการอิจติฮาดเรียกว่า (تفسير بالرأى) (วิเคระห์วินิจฉัยด้วยปัญญา)
การตัฟซีรด้วยกับการอิจติฮาด คือการวิเคราะห์คำและความหมายของกุรอานด้วยปัญญา ด้วยกฎเกณฑ์และครบเงื่อนไขที่ของผู้ที่ตัฟซีรและถูกต้องในกระบานการตัฟซีร การตัฟซีรประเภทนี้มีความน่าเชื่อถือและความถูกต้องน้อยกว่าประเภทแรก การตัฟซีรประเภทนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ถูกยอมรับและไม่ถูกยอมรับ คือ
1.ประเภทที่ถูกยอมรับคือ ผู้ที่ทำการอธิบายอัลกุรอานครบเงื่อนไขของนักตัฟซีร และการอธิบายนั้นต้องไม่ค้านกับการอธิบายของท่านนบีค้านกับบรรดาซอฮาบะฮ์ ตาบีอีนและหมู่ชนแห่งสลัฟรวมถึงปราชญ์ที่เชี่ยวชาญในการตัฟซีร (อะอิมมะฮ์ตัฟซีร)
2. ประเภทที่ไม่ถูกยอมรับ คือ การอธิบายอัลกุรอานโดยไปค้านกับการอธิบายของท่านนบีบรรดาซอฮาบะฮ์ ตาบีอีน และหมู่ชนแห่งสลัฟรวมถึงปราชญ์ที่เชี่ยวชาญในการตัฟซีร และผู้ที่ตัฟซีรไม่ครบเงื่อนไขและไม่ครบองค์ประกอบของการตัฟซีร
. ** อนึ่ง…การตัฟซีรด้วยกับการอิจติฮาดประเภทนี้ต้องไม่ไปอธิบายเรื่องที่มนุษย์ไม่มึความรู้ เช่น เรื่องเร้นลับ เรื่องอะกีดะฮ์ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ ต้องศรัทธาเท่านั้น ห้ามอธิบายหรือตีความ เช่น เรื่องของบรรดา มลาอิกะฮ์ ญิน นรก สวรรค์ วิญญาณ พระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮ์ เป็นต้น.
** 4. นักตัฟซีรที่เป็นที่ยอมรับในการนำมาอ้างอิงการตัฟซีรอัลกุรอานและตำราตัฟซีร **
นักตัฟซีรและตำราตัฟซีรของพวกเขาที่เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากบรรดาปวงปราชญ์ในอดีตและนักวิชาการในปัจจุบันที่ยึดถือแนวทางแห่งกิตาบุ้ลลลอฮ์และซุนนะฮ์ตลอดจนหมู่ชนแห่งสลัฟซอและฮ์ในการนำมาอธิบายอัลกุรอาน การตัฟซีรด้วยกับสายรายงาน (تفسيربالمأثور) นั้นเป็นการตัฟซีรที่ถูกยอมรับและมีความถูกต้องมากที่สุดเนื่องจากเป็นการตัฟซีรที่ถูกถ่ายทอดมาจากตาบีอีน บรรดาซอฮาบะฮ์และจากท่านนบี ปราชญ์ที่ยึดแนวทางการตัฟซีรประเภทนี้มีอยู่หลายท่านด้วยกันดังเช่น
1. ตัฟซีร ابن عباس ของท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ อับบาส ร่อดิยัลลอฮุอันฮุ ผู้ซึ่งรอบรู้และเชี่ยวชาญการให้ความหมายอัลกุรอาน และถือเป็นอาจารย์ของอุละมาอ์ในยุคตาบิอีนหลายๆท่าน ท่าน อิบนุอับบาสนั้นได้ท่องจำอัลกุรอานตั้งแต่เยาว์วัย ศึกษาค้นคว้าสาเหตุการประทานอายะฮ์ และยังได้รวบรวมความรู้ด้านการอธิบายอัลกุรอานจากบรรดาเศาะหาบะฮฺรุ่นอาวุโส อีกทั้งท่านนบียังขอดุอาอฺให้ท่านอีกด้วยให้ท่านมีความรู้เรื่องการอรรถาธิบายอัลกุรอาน”
2. ตัฟซีร مجاهد ท่านมุญาฮิด บิน ญุบัรฺ เป็นอิมามของคนในยุคตาบีอีนและอิมามทางด้านการตัฟซีร
3. ตัฟซีร جامع البيان عن تأويل آي القرآن ของท่าน อิบนุญะรีร อัตเฏาะบะรีย์ เป็นหนังสือตัฟซีรที่มีคุณค่ามากเนื่องจากเป็นการตัฟซีรที่อ้างอิงการอธิบายมาจากอัลกุรอานและอัลฮะดีษ ที่มีความถูกต้อง ซึ่งถูกรวบรวมมาจากบรรดาการรายงานของบรรดาเศาะฮาบะฮฺ และตาบิอีน
4. ตัฟซีร تفسير القرآن العظيم หรือที่รู้จักกันในนามตัฟซีรอิบนิกะษีร ของท่านอะบุ้ลฟิดาอฺอิสมาอีลอิบนิอุมัรอิบนิกะษีร ผลงานการตัฟซีรในตำราของท่านนั้นถือว่าเป็นการตัฟซีรที่มีความน่าเชื่อถือมาก เนื่องด้วยเป็นการตัฟซีรอัลกุรอานด้วยกับอัลกุรอาน หรือด้วยกับซุนนะฮฺ หรือด้วยกับคำกล่าวของเศาะฮาบะฮ์ หรือด้วยกับคำกล่าวของตาบิอีน
5. ตัฟซีรالدر المنثور في التفسير بالمأثور ของท่านอิมาม ญะลาลุดดีน อัซซุยูฏีย์ เป็นการตัฟซีร อัลกุรอานด้วยกับอัลกุรอาน หรือด้วยกับซุนนะฮฺ หรือด้วยกับคำกล่าวของเศาะฮาบะฮ์และตาบีอีน
6. ตัฟซีร معالم التنزيل ของอบีมุฮัมหมัดอัลฮะซัน บินมัสอูดอัลบะฆ์วีย์
7. ตัฟซีร فتح القدير ของอบีมุฮัมหมัดบินอะลีบินมุฮัมหมัดบินอับดุลลอฮ์ อัชเชากานีย์
(มีต่อตอน 2…)