ฟะตาวารอมฎอน

หมวดหมู่ : , ,

·

·

ข้อวินิจฉัยปัญหาที่ควรทราบในเดือนรอมฏอน
แปลและเรียบเรียงโดย อ.มุบาร็อก  แดงโกเมน

1.การใช้ยาสูดพ่นทางจมูกหรือทางปากเพื่อรักษาโรคหอบหืดหรือโรคอื่นๆ

         การใช้ยาพ่นหรือยาหยอดจมูก รักษาโรคหอบหรือโรคอื่นๆไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย[1]

2.การใช้ยาเหน็บวางไว้ใต้ลิ้น

         การใช้ยาเหน็บวางไว้ใต้ลิ้นนั้นไม่ทำลายการถือศีลอด เพราะไม่มีสิ่งที่ไปถึงกระเพาะอาหาร

3.การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหาร

         ประเด็นนี้มี  2 ทัศนะ ทัศนะแรก : ปราชญ์ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าอะไรก็ตามที่เข้าไปในระบบทางเดินอาหารนั้นทำให้เสียศีลอด[2]  อีกทัศนะเห็นว่า: ไม่ทำให้การถือศีลอดเสียยกเว้นสิ่งที่เป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งท่อเหล่านี้ไม่ใช่อาหารหรือเครื่องดื่ม การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารจึง ไม่ทำลายการถือศีลอด เนื่องจากเป็นของแข็งที่ไม่ใช่อาหาร[3]

อนึ่ง… ในกรณีของผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยวิธีการใส่สายสวนเข้าสู่หลอดเลือดย่อมถือว่าเป็นผู้ป่วยที่ศาสนาผ่อนผันให้ ไม่ต้องถือศีลอดอยู่แล้ว ดังนั้น ในกรณีดังกล่าวผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องถือศีลอดและให้ผู้ป่วยทำการถือศีลอดชดใช้ในภายหลังเมื่อมีอาการเป็นปรกติแล้ว

4.สิ่งที่เข้าสู่ร่างกายทางจมูก

         4.1 การหยดยา

         การหยดยาทางจมูก ทัศนะแรก: ไม่ทำลายการถือศีลอด เนื่องจากสิ่งที่ไปถึงกระเพาะอาหารจากการหยดยานี้น้อยมากและไม่ใช่อาหาร[4] ทัศนะที่สอง: ทำให้การถือศีลอดเสีย[5]

อนึ่ง…ประเด็นที่เห็นต่างในกรณีนี้ก็คือ ปริมาณของเหลวในการเข้าสู่กระเพาะอาหาร ซึ่งหากไม่เข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร หรือเข้าไปเพียงเล็กน้อยโดยไม่เจตตนาก็ไม่ทำให้การถือศีลอดเสีย วัลลอฮุอะอฺลัม

         4.1 การใส่ก๊าซออกซิเจน

         การใส่ก๊าซออกซิเจนไม่ถือว่าเสียศีลอดเพราะเหมือนหายใจเอาอากาศปกติเข้าไป

         4.2 การใช้ยาพ่นทางจมูก

         ยาพ่นหรือยาหยอดจมูก ไม่ทำให้เสียศีลอด

         4.3 การดมยาชา ยาหอมหรือยาดม

         การดมยาชา ยาหอมยาดมหรือการสูดดมของหอมสำหรับผู้ถือศีลอดนั้นไม่ทำให้เสียศีลอด

5.สิ่งที่เข้าสู่ร่างกายทางหู

         5.1 การหยดยาและการล้างหู

         ให้พิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวยาหรือน้ำจากการหยดยาและการล้างหูเข้าสู่กระเพาะ  อาหารหรือไม่เป็นสำคัญ ถ้าไม่เข้าไปสู่ระบบทางเดินอาหาร การถือศีลอดยังไม่เสีย[6]

6. สิ่งที่เข้าสู่ร่างกายทางตา

         การหยอดตา ผงทาตา ไม่ทำให้เสียศีลอด[7]

7.สิ่งที่เข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง 

         7.1 การฉีดยาเพื่อการรักษา(ทางผิวหนัง กล้ามเนื้อ และทางหลอดเลือดดำ)

         การฉีดยาเพื่อการรักษาทางผิวหนังและทางกล้ามเนื้อ การรักษาด้วยรูปแบบข้างต้นไม่ทำให้เสียการถือศีลอดแต่อย่างใด[8] (การฉีดยาที่ไม่ใช่เป็นยาบำรุงร่างกาย เช่นยารักษาโรค ยาชา) เข้าทางกล้ามเนื้อ เส้นเลือด และใต้ผิวหนัง ไม่ทำให้เสียศีลอด  ส่วนการให้ฉีดสารอาหารทางหลอดเลือดดำ นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าทำให้เสียศีลอด)

         7.2 การใช้สีเฮนน่า ขี้ผึ้ง และพลาสเตอร์ยา

          การรักษาด้วยรูปแบบข้างต้นไม่ทำให้เสียการถือศีลอดแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าสารจากแผ่นยาหรือน้ำมันหรือสารจำพวกของเหลวดังกล่าวจะเข้าสู่ภายในร่างกาย ผ่ากระบวนการดูดซึมทางรูขุมขนที่ผิวหนังก็ตาม[9]

         7.3 การใส่สายเข้าไปในหลอดเลือดแดงเพื่อทำการถ่ายภาพหรือรักษา

         การใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงเป็นวัตถุแข็งมิใช่สารหรือของเหลวจำพวกอาหารไม่ใช่ทั้งการกินหรือดื่ม และไม่ได้เข้าไปในกระเพาะอาหาร การกระทำดังกล่าวไม่ทำให้เสียการถือศีลอด[10]

         7.4 การใส่สายส่องกล้องทางทวาร

         การใส่สายส่องกล้องทางทวารตามคำวินิจฉัยของปวงปราชญ์ (ญุมฮูร อัล-อุละมาอ์) ทำให้เสียการถือศีลอด 

         7.5 การล้างไต

         การล้างไตทำให้การถือศีลอดเสีย[11] โดยให้เหตุผลว่า การฟอกไตนั้นให้เลือดบริสุทธิ์แก่ร่างกาย และอาจให้สารอาหารบางชนิดเข้าสู่ร่างกายด้วย 

8.สิ่งที่เข้าสู่ร่างกายทางช่องคลอด

         8.1 การล้างช่องคลอด

         ตามทัศนะของนักวิชาการสังกัดมัซฮับมาลิกี และฮัมบาลีระบุเงื่อนไขว่า หากการล้างช่องคลอดเข้าไปถึงกระเพาะอาหารก็ถือว่าทำให้เสียการถือศีลอด แต่ถ้าเข้าไปไม่ถึงกระเพาะอาหารก็ถือว่าไม่ทำให้เสียการถือศีลอด[12] ส่วนนักวิชาการสังกัดฮะนะฟีย์และชาฟิอี  ถือว่าทำให้เสียการถือศีลอด ไม่ว่าการล้างช่องคลอดจะเข้าไปถึงกระเพาะอาหารหรือไม่ก็ตาม[13]

อนึ่ง… ควรหลีกเลี่ยงการทำในลักษณะดังกล่าวในระหว่างช่วงเวลาของการถือศีลอดจะเป็นการดีที่สุด

9. สิ่งที่เข้าสู่ร่างกายทางทวารหนัก

         9.1 การฉีดยาเพื่อการรักษา

         การฉีดยาเพื่อการรักษาทางทวารหนักถือว่าทำให้การถือศีลอดเสีย ตามความเห็นของปวงปราชญ์ทั้ง 4 มัซฮับเพราะวิธีการรักษาดังกล่าวเป็นการนำเอาวัตถุหรือสารแปลกปลอมเข้าสู่ภายในร่างกายทางช่องทวารหนัก ซึ่งเป็นทวารเปิดตามธรรมชาติ[14]

         9.2 การใช้ยาเหน็บ

         การใช้ยาที่ต้องสอดหรือเหน็บในช่องทวารหนัก เป็นสิ่งที่ทำให้เสียการถือศีลอด เพราะวิธีการรักษาดังกล่าวเป็นการนำเอาวัตถุหรือสารแปลกปลอมเข้าสู่ภายในร่างกายทางช่องทวารหนัก ซึ่งเป็นทวารเปิดตามธรรมชาติที่เชื่อมต่อถึงกระเพาะอาหารแล้วตามคำจำกัดความของสิ่งที่ทำให้เสียการถือศีลอดซึ่งนักวชิาการได้บญัญติไว้[15]

10.การบริจาคเลือด การเจาะเลือดเล็กน้อยเพื่อการวิเคราะห์ การให้เลือด

         การเจาะเลือด ตรวจเลือด ถ่ายเลือด ผ่าฝี และหนอง ไม่ว่าจะมากหรือน้อยขนาดไหน ไม่ทำให้เสียศีลอด แต่เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ เพราะอาจจะเป็นอันตรายหรือเกิดการอ่อนเพลียแก่ผู้ที่ถือศีลอดได้

11. การให้น้ำเกลือ

         การถือศีลอดของเขาเสีย แม้ว่ามันไม่ใช่การกินและดื่มจริงๆ ก็ตาม เพราะมันอยู่ในความหมายเดียวกันกับการกินและดื่ม จึงอยู่ในข้อบัญญัติ (ฮุก่ม) เดียวกันด้วย

12. การวางยาสลบ

         การวางยาสลบซึ่งมี 2 กรณีด้วยกัน คือ

         1. ยาชาทั่วไป

         2. ยาชาเฉพาะที่

         การใช้ยาชาหรือยาสลบทางจมูกโดยการสูดดมสารเพื่อส่งผลกระทบไปสู่ประสาทสัมผัสและทำให้เกิดการสลบ

         3. การใช้ยาสลบด้วยกับการฉีด เช่น ฉีดทางกล้ามเนื้อ เป็นต้น

         ข้อบัญญัติการใช้ยาสลบในกรณีแรกไม่ทำให้เสียศีลอดเพราะว่าสารหรือแก๊สนั้นจะเข้าไปข้างในจมูกและไม่ใช่สารอาหาร ฉะนั้นจึงไม่ส่งผลกับการถือศีลอด เช่นเดียวกันการทำให้ชาหรือการทำให้สลบโดยวิธีของแพทย์จีนก็ไม่ส่งผลให้เสียศีลอดเช่นกันเพราะว่าสารอาหารไม่ได้เข้าไปสู่กระเพาะอาหาร   ส่วนการใช้ฉีดยาสลบเนื่องจากการฉีดเป็นการเฉพาะที่ทำให้วางยาสลบแบบทั่วไปด้วยกับการฉีดนั้นต้องต้องพิจารณาด้วยกับ 2 อย่างด้วยกัน

          1.การฉีดสารเหลวเข้าสู่ร่างกายทางเส้นเลือด

         2. ทำให้หมดสติไป ซึ่งกรณีนี้บรรดานักวิชาการก็ได้แยกออกเป็น ประเด็นด้วยกันคือ    หากเสียสติไปในช่วงกลางวัน ปวงปราชญ์  ท่านก็คือ อิมามมาลิก ชาฟีอีและอะฮ์หมัด  มีความเห็นว่าผู้ใดที่หมดสติลงไปในตลอดช่วงกลางวันที่เขาถือศีลอด การถือศีลอดของเขานั้นใช้ไม่ได้… แต่ถ้าหากว่าขาเสียสติไปในบางช่วงของกลางวัน การถือศีลอดของเขาถือว่าใช้ได้อยู่[16]

 13. การถือศีลอดของเด็ก

         เด็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะศาสนาส่งเสริมให้ฝึกฝนให้เขาถือศีลอดตั้งแต่อายุ 7 ขวบหากเด็กมีความสามารถและพยายามกำชับให้เขาถือศีลอดเมื่ออายุครบ 10 ขวบเช่นเดียวกับการละหมาด[17]

14. การถือศีลอดของคนเดินทาง

         การเดินทางที่อนุโลมให้ทำการละศีลอดได้ต้องมีเงื่อนไขดังนี้คือ 1. ต้องเป็นการเดินทางไกลตามหลักการศาสนาหรือเรียกได้ว่าเป็นการเดินทาง  2. ต้องเลยเขตเมืองซึ่งเป็นภูมิลำเนาของตนหรือพ้นจากอาคารบ้านเรือนของเมืองนั้น3. ต้องเป็นการเดินทางที่เป็นไปเพื่อคุณงามความดีไม่ใช่เดินทางไปทำในสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืน  4. ต้องเป็นการเดินทางที่มีความจำเป็นจริงๆ

         กรณีของคนเดินทางที่อยู่ในเงื่อนไขของการเดินทาง แต่เขาไม่ได้มีความลำบากหรือเหนื่อยล้าจากการเดินทางตามมติของนักวิชาการเขามีสิทธิ์ที่จะรละศีลอดได้แม้ว่าจะอยู่ในสภาพที่สามารถถือได้ก็ตาม เช่นการเดินทางโดยเครื่องบินทางเรือก็อนุโลมให้ละศีลอดได้[18]

15. การอาเจียน

         ผู้ที่มีอาการคลื่นไส้และอาเจียนออกมา การถือศีลอดของเขาไม่เสีย ยกเว้นหากมีเจตนาทำให้อาเจียน เช่นเอามือล้วงคอหรือรีดหน้าท้อง เป็นต้น

16. การว่ายน้ำหรือดำลงไปในน้ำ

         การว่ายน้ำหรือดำลงไปในน้ำหรือการเอาผ้าซับน้ำให้เปียกคุมร่างกายเพื่อให้เกิดความเย็นหรือราดน้ำบนศีรษะขณะที่ถือศีลอดอยู่เพื่อบรรเทาความร้อนและกระหายไม่ถือว่าทำให้ศีลอดเสีย[19]

17. อิบาดะฮ์ที่สตรีมีประจำเดือนสามารถทำได้ในเดือนรอมฎอน

         อิบาดะฮ์ที่ดี ที่นางสามารถกระทำได้ได้แก่ การสดับฟังอัลกุรอาน การอ่านตำราอรรถาธิบายอัลกุรอาน (ตัฟซีร) การอ่านดุอา การอ่านถ้อยคำรำลึก(อัซการ)ทั้งยามเช้าและยามเย็น การรำลึกถึงอัลเลาะห์อยู่ตลอดเวลา การกล่าวตักบีร อัลลอฮุอักบัร อัลฮัมดุลิลละห์ ซุบฮานัลลอฮ์มากๆ การกล่าวสรรเสริญให้แก่ท่านนบีมูฮัมหมัด การอ่านตำราที่มีประโยชน์  เช่นหนังสือฮะดีษ การหมั่นบริจาคทาน การเชื่อมสัมพันธ์เครือญาติและการช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่มีความสามารถ การเข้าร่วมในการสังสรรค์ในวันอีดด้วยกับข้อความยินดี

 18. การอ่านจากเล่มกุรอาน (มุศฮับ) ในการละหมาดช่วงรอมฏอน

          การอ่านจากเล่มกุรอานในการละหมาดไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด[20]

19. การตรวจผลโควิด -19 ด้วย atk หรืออื่นๆ

         การตรวจผลโควิด -19 ด้วย atk หรืออื่นๆไม่ทำให้เสียศีดอด เพราะเครื่องตรวจเป็น    แบบแห้งที่สอดจมูกเข้าไปแต่ไม่ถึงลำคอ

บทดุอาอ์ที่ควรกล่าวในเดือนรอมฏอน

  • ดุอาอ์เมื่อเข้าสู่เดือนรอมฏอน

اللَّهُمَّ أَهِلَّهُ علَيْنَا بِالأَمْنِ والإِيمَانِ، 

وَالسَّلامَةِ والإِسْلامِ، رَبِّي ورَبُّكَ اللَّه،

คำอ่านอัลลอฮ์ฮุมมะ อะฮิ้ลละฮู อะลัยนา บิลอัมนิ วัลอีมาน วัสสะลามะติ วัลอิสลาม ร็อบบีย์ วะร็อบบุกัลลอฮ์” 

คำแปลโอ้อัลลอฮ์ ขอให้จันทร์เสี้ยว(ฮิล้าล)ที่ปรากฏต่อเรา ด้วยความจำเริญเเละศรัทธา ด้วยความปลอดภัยเเละอิสลาม ผู้ทรงอภิบาลของฉันเเละของท่านคืออัลลอฮ์


  • ดุอาอ์ละศีลอด

 ذَهَبَ الظَّمَأُ وَابْتَلَّتِ الْعُرُوْقُ وَثَبَتَ الأَجْرُ إِنْ شَاءَ اللهُ 

คำอ่านซะฮะบัฏ เฏาะมะอุวับตัลละติล อุรูกวะษะบะตัล อัจญ์รุ

อินชาอัลลอฮ์

คำแปล: ความกระหายได้ดับหายไป เส้นโลหิตต่าง  ได้ชุ่มชื้นขึ้น และผลตอบแทนก็ได้รับการยืนยันแล้ว หากอัลลอฮ์ตะอาลาทรงประสงค์


  • ดุอาอ์ขอพรให้แก่ผู้เลี้ยงอาหารละศีลอด

أفْطَرَ عِنْدَكُمُ الصَّائِمُونَ؛ وَأكَلَ طَعَامَكُمُ الأَبرَارُ،

وَصَلَّتْ عَلَيْكُمُ المَلاَئِكَةُ 

คำอ่าน : “อัฟเฏาะเราะ อินดากุมุซซออีมูน วะอะกะละ ตออามะ        กุมุลอับร้อร วะศ็อลลัต อะลัยกุมมุลมะลาอิกะตุ”

ความหมาย : “เหล่าผู้ถือบวชได้ละศีลอดกับท่าน เหล่าผู้ประเสริฐได้ทานอาหารของท่าน และบรรดามลาอิกะฮฺได้ขอพรให้ท่านแล้ว”


  • ดุอาอ์ขอพรในค่ำคืนลัยละตุล ก็อดร์

اللَّهُمَّ إِنَّكَ عَفُوٌّ تُحِبُّ الْعَفْوَ فَاعْفُ عَنِّيْ )) ))

คำอ่าน “อัลลอฮุมมะ อินนะกะ อะฟูวุน ตุฮิบบุลอัฟวะ ฟะอฺฟุอันนี”

ความหมาย : “โอ้ผู้อภิบาลของเรา แท้จริงพระองค์ทรงเป็นผู้อภัยยิ่ง พระองค์ทรงรักการให้อภัย ดังนั้นขอได้โปรดประทานอภัยแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด”


  • ดุอาอ์ขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์

(( اَللَّهُمَّ أَنْتَ رَبِّي، لاَ إِلَهَ إِلاَّ أَنْتَ، خَلَقْتَنِي وَأَنَا عَبْدُكَ، وَأَنَا عَلَى عَهْدِكَ وَوَعْدِكَ مَا اسْتَطَعْتُ ، أَعُوْذُ بِكَ مِنْ شَرِّ مَا صَنَعْتُ، أَبُوْءُ لَكَ بِنِعْمَتِكَ عَلَيَّ، وَأَبُوْءُ بِذَنْبِي فَاغْفِرْ لِي، فَإِنَّهُ لاَ يَغْفِرُ الذُّنُوْبَ إِلاَّ أَنْتَ ))

คำอ่าน : อัลลอฮุมมะ อันตะร็อบบีลาอิลาฮะอิลละอันตะ เคาะลักตะนี วะอะนะ อับดุกะ,วะอะนะอะลาอะฮ์ดิกะ วะวะอ์ดิกะ มัสตะเตาะอ์ตุ อะอูซุบิกะ มินชัรริมาเซาะนะอ์ตุอะบูอุละกะ บิเนี๊ยอ์มะติกะ อะลัยยะ วะอะบูอุ บิซัมบี ฟัฆฟิรลี ฟะอินนะฮู ลายัฆฺฟิรุซซุนูบะ อิลลาอันตะ

ความหมาย : “ โอ้อัลลอฮ์ พระองค์คือผู้อภิบาลของฉัน ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่เที่ยงแท้นอกจากพระองค์เท่านั้น พระองค์ได้สร้างฉันขึ้นมา และฉันก็เป็นบ่าวของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว และฉันยอมรับสัญญาของพระองค์ทั้งที่ดีและที่ไม่ดี ในสิ่งที่ฉันสามารถ ฉันขอให้พระองค์ ได้โปรดขจัดสิ่งที่ไม่ดีจากการกระทำของฉัน ฉันจะกลับไปหาพระองค์ด้วยความโปรดปรานของพระองค์ที่ได้ทรงประทานให้แก่ฉัน และด้วยบาปของฉันที่ได้กระทำไว้ ขอให้พระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่ฉันด้วยเถิด ไม่มีผู้ใดที่สามารถจะให้อภัยโทษได้ นอกจากพระองค์เท่านั้น 


  • ดุอาอ์ขอให้ได้รับความดีในดุนยาและอาคิเราะฮ์

 رَبَّنَا آتِنَا فِي الدُّنْيَا حَسَنَةً وَفِي الْآخِرَةِ حَسَنَةً 

وَقِنَا عَذَابَ النَّار

คำอ่าน “ร็อบบะนา อาตินา ฟิดดุนยา ฮะซะนะฮ์ วะฟิลอาคิร่อติ ฮะซะนะฮ์ วะกินา อะซาบันนาร”

ความหมาย : “โอ้ผู้อภิบาลของเรา ได้โปรดประทานสิ่งที่ดีงามให้แก่เรา ทั้งในโลกนี้และโลกอาคิเราะฮ์ และได้โปรดปกป้องคุ้มครองเราให้พ้นจากไฟนรกด้วยเถิด”


اللهم تقبل منا الصيام والقيام وصالح الأعمال

“โอ้อัลลอฮ์ ขอพระองค์ทรงตอบรับการถือศีลอดของเรา การยืนละหมาดของเรา และการงานที่ดีต่างๆของเราด้วยเถิด”

อ้างอิง


[1] ดู มัจมูอฺฟะตาวาเชคบินบาซ เล่ม 15 หน้า 256

[2] ดู มัจมูอฺฟะตาวาเล่ม 6 หน้า 317

[3] ดู มัจมูอฺฟะตาวาเล่ม 20 หน้า 528

[4] ดู อะหมัด บิน มุฮัมหมัด อัลเคาะลีล หน้า 24 

[5] ดู มัจมูอฺฟะตาวาเชคบินบาซ เล่ม 15 หน้า 261

[6] ดู อะหมัด บิน มุฮัมหมัด อัลเคาะลีล หน้า 30

[7] ดู มัจมูอฺฟะตาวาเชคบินบาซ เล่ม 15 หน้า 260

[8] ดู มัจมูอฺฟะตาวาเชคบินบาซ เล่ม 15 หน้า 257

[9] ดู วารสารสภาวินิจฉัยปัญหาฟิกฮ์ ปีที่ 10 เล่ม 2 หน้า 289

[10] วารสารสภาวินิจฉัยปัญหาฟิกฮ์ ปีที่ 10 เล่ม 2 หน้า 289

[11] เป็นความเห็นของเชคบินบาซ ดร.วะฮ์บะฮ์ อัซซุฮัยลีย์

[12] ดู อัลมุเดาวะนะฮ์ เล่ม 1 หน้า 177

[13] ดู บะดาอิอฺ อัศเศาะนาอิอฺ เล่ม 2 หน้า 93

[14] ดู อัลมัจมูอ์ เล่ม 6 หน้า 361

[15] ดู อัลมัจมูอ์ เล่ม 6 หน้า 335

[16] ดู อะหมัด บิน มุฮัมหมัด อัลเคาะลีล หน้า 26-28

[17] ดู อัลมุฆนีย์ เล่ม 3 หน้า 10

[18] ดู มัจมูอฺฟะตาวา เล่ม 20 หน้า 210

[19] ดู มุฆนีย์เล่ม 3 หน้า 44)

[20] ดู ฟัตวาเชค บิน บาซ ว่าสามารถกระทำได้ คำถามเลขที่ 1255

อ่านบทความอื่นๆ

ดูตามหมวดหมู่

ดูตามคำค้น

รอมฏอน ละหมาด