ระยะเวลาของการเอี๊ยฮ์ติกาฟ

หมวดหมู่ : ,

·

·

ระยะเวลาของการเอี๊ยฮ์ติกาฟ

เรียบเรียงโดย มุบาร็อก แดงโกเมน

            ในประเด็นนี้บรรดาปราชญ์ได้มีทัศนะเห็นต่างกันในประเด็นที่ว่า:ระยะเวลาเท่าไหร่ที่อนุญาตให้ทำการเอี๊ยฮ์ติกาฟได้…? ขอนำเสนอโดยสรุปเพื่อให้คนที่ไม่ทราบได้เข้าใจและปฏิบัติได้ถูกต้อง…ดังนี้

         1.ความเห็นจากบรรดาปวงปราชญ์ส่วนใหญ่ในประเด็นนี้ ท่านเหล่านี้เห็นว่า: การเอี๊ยฮ์ติกาฟนั้นสามารถที่จะกระทำได้แม้เพียงระยะเวลาชั่วครู่ก็ตาม เป็นทัศนะของมัซฮับฮานาฟี มัซฮับชาฟีอี และอิมามอะห์มัด  ( ดู الدر المختار เล่ม1 หน้า 445  المجموعเล่ม6 หน้า 489 ) 

            2.ท่านอิมามนะวะวีย์ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า:ส่วนระยะเวลาที่น้อยที่สุดที่สามารถทำการเอี๊ยฮ์ติกาฟได้นั้น ที่ถูกต้องนั้น บรรดาปวงปราชญ์ยึดตรงกันว่า เงื่อนไขสำคัญก็คือ การพำนักอยู่ในมัสยิด ดังกล่าวสามารถที่จะกระทำได้ไม่ว่าจะพำนักอยู่เป็นเวลานานหรืออยู่เพียงไม่นาน ถึงแม้ว่าจะเพียงสักชั่วโมงหรือสักครู่ก็ตาม  (ดู المجموع เล่ม 6 หน้า 514)

            3.ท่านอิมามอิบนิฮัซมิได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า : เอี๊ยฮ์ติกาฟในภาษาอาหรับหมายถึงการพำนักอยู่ โดยหมายถึงว่าพำนักอยู่ในมัสยิดเพื่ออัลลอฮุตะอาลาและใกล้ชิดกับพระองค์ การเอี๊ยฮ์ติกาฟนั้นกระทำได้ไม่ว่าจะพำนักอยู่เพียงไม่นานหรือเป็นพำนักเป็นเวลานาน ทั้งนี้เนื่องจากว่าไม่มีตัวบทจากอัลกุรอานและจากซุนนะฮ์ท่านนบีที่มาเจาะจงในเรื่องของจำนวนจากระยะเวลาของการเอี๊ยฮ์ติกาฟหรือเวลาหนึ่งเวลาใดเป็นการเฉพาะ…ท่านอิมามอิบนิฮัซมิได้อาศัยรายงานของอิบนิอบีชัยบะฮ์จากท่านยะอฺลา บินอุมัยยะฮ์ (ขออัลลอฮ์ทรงพอพระทัยท่าน)ที่กล่าวว่า “ตัวฉันนี้จะทำการพำนักอยู่ในมัสยิดเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง และฉันจะไม่พำนักนอกจากจะเป็นการทำเอี๊ยฮ์ติกาฟ        (ดู المحلى เล่ม 5 หน้า 179)

            4.เชคอับดุลอะซี๊ซ บินบาซกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า: การเอี๊ยฮ์ติกาฟคือการพำนักอยู่ ในมัสยิดเพื่อแสดงการภักดีต่ออัลลอฮุตะอาลาไม่ว่าจะพำนักอยู่เป็นเวลานานหรืออยู่เพียงไม่นานก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากว่าไม่มีรายงานในเรื่องดังกล่าว ที่ทราบนั้นคือ ไม่มีตัวบทหลักฐานใดๆมากำหนดไม่ว่าจะวันสองวันหรือเกินกว่านั้น ดังกล่าวคืออิบาดะฮ์ที่เป็นบัญญัติศาสนา เว้นเสียแต่ว่ามีการบนบานเอาไว้เรื่องดังกล่าวจะเป็นวาญิบ(จำเป็นต้องกระทำ)ทันที ไม่ว่าจะชายหรือหญิงก็ตาม..       (ดู مجموع الفتاوى เล่ม 15 หน้า 441)

         **หมายเหตุ: ในประเด็นนี้นั้นปวงปราชญ์อีกบางส่วน เช่นท่านอิมามมาลิกี เห็นว่าระยะเวลาที่น้อยที่สุดที่สามารถทำการเอี๊ยฮ์ติกาฟได้นั้นคือ 1วัน1คืน แต่ทัศนะนี้ไม่เป็นที่ยอมรับจากปวงปราชญ์ส่วนใหญ่เนื่องจากไม่มีตัวบทหลักฐานใดๆมากำหนดเวลาเป็นการเฉพาะ

อ่านบทความอื่นๆ

ดูตามหมวดหมู่

ดูตามคำค้น

รอมฏอน ละหมาด