วิชาตัฟซีรอัลกุรอาน ซูเราะฮ์อัลลัยย์
อ.อามิร โยธาสมุทร
﴾ِ وَٱلَّيۡلِ إِذَا يَغۡشَىٰ ﴿
1. (อัลเลาะห์)สาบานด้วยยามราตรีเมื่อมันปกคลุม
﴾ وَٱلنَّهَارِ إِذَا تَجَلَّىٰ ﴿
2. และสาบานด้วยยามกลางวันเมื่อมันแจ้ง
﴾ وَمَا خَلَقَ ٱلذَّكَرَ وَٱلۡأُنثَىٰٓ ﴿
3. และสาบานด้วยผู้ทรงสร้างเพศชายและเพศหญิง
อธิบายอายะฮ์ 1-3 : อัลเลาะห์ทรงเริ่มซูเราะฮ์ด้วยการสาบานพระองค์มีสิทธิ์ที่จะสาบานด้วยกับสิ่งต่างๆได้ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งเหล่านั้นเพื่อจะได้พิจารณาถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ส่วนผู้อื่นนั้นต้องสาบานด้วยอัลอฮเท่านั้น อัลเลาะห์ทรงสาบานด้วย -เวลากลางคืนเมื่อมันคืบคลานมาปกคลุมกลางวันจนหมดแสงไปซึ่งมนุษย์จะได้ทำการพักผ่อนจากการเหนื่อยล้า -และทรงสาบานด้วยเวลากลางวันเมื่อมันแจ้งขึ้นจากความมืดมิดจนมนุษย์ได้รับแสงสว่างและสะดวกต่อธุระต่างๆ -และทรงสาบานด้วยอัลเลาะห์ผู้ทรงสร้างเพศชายและเพศหญิงหรืออีกความหมายหนึ่งคือสาบานต่อการสร้างเพศชายและเพศหญิงซึ่งมีความสำคัญและละเอียดลึกซึ้งยิ่ง
ส่วนชายและหญิงมีความหมายอีกว่าท่านนบีอาดัมและท่านหญิงฮาว้าอฺ หรือหมายถึงเพศชายเพศหญิงของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นมนุษย์สัตว์พืชต่างๆด้วยอัลเลาะห์ตรัสว่า “และจากทุกสิ่งนั้นเราได้สร้างเป็นคู่เพื่อพวกเจ้าใคร่ครวญ”( 51/19)
ที่พระองค์ทรงสาบานในอายะข้างต้นนั้นเพื่อเป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญใคร่ครวญเดชานุภาพของพระองค์ผู้เป็นเจ้าผู้มีสิทธิ์หนึ่งเดียวเท่านั้นในการอิบาดะ
﴾ إِنَّ سَعۡيَكُمۡ لَشَتَّىٰ ﴿
4. การงานของพวกเจ้านั้นแตกต่างมากหลายอย่างแน่นอน
อธิบาย: อายะนี้คือประเด็นของการสาบานว่าการงานของพวกเจ้านั้นต่างกันแน่นอนระหว่างคนทำเพื่อดุนยาและคนทำเพื่ออาคีเราะห์ ท่านนบีกล่าวว่า
كل الناس يغدو فبائع نفسه فمعتقها او موبقها (رواه مسلم)
“ทุกคนต่างออกไปตามวิถีเอาตนเข้าแลกเดิมพันถ้าไม่ทำให้ตนรอดก็ทำให้ตนพินาศ”
การงานต่างๆนั้นแตกต่างมากหลายไม่ว่าจะเป็นมุมินหรือกาฟิร ผู้เชื่อฟังหรือผู้ฝ่าฝืน ผู้เจตนาดีหรือโอ้อวด ฯลฯ ซึ่งการทำความดีนั้นเป็นสาเหตุให้ได้เข้าสวรรค์ด้วยอนุมัติของอัลเลาะห์และการทำชั่วนั้นเป็นสาเหตุให้เข้านรกนั่นเอง
﴾ فَأَمَّا مَنۡ أَعۡطَىٰ وَٱتَّقَىٰ ﴿
5. ฉะนั้นผู้ใดที่ให้(บริจาคและอื่นๆ)และมีความยำเกรง
อธิบาย: ฉะนั้นผู้ใดให้ ไม่ว่าจะเป็นอิบาดะฮ์ด้านทรัพย์สิน (เช่นซะกาต กัฟฟาเราะฮ์สิ่งชดใช้ตามบัญญัติในบางเรื่อง นะฟะเกาะฮ์ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัว และการบริจาคทานต่างๆ)หรืออิบาดะฮ์ด้านร่างกายเช่นการละหมาดการถือศีลอด ฯลฯ หรือการอิบาดะฮ์ ทั้งร่างกายและทรัพย์สินเช่นฮัจญ์ อุมเราะฮ์ โดยที่เขานั้นมีความยำเกรงระวังออกห่างสิ่งที่อัลเลาะห์ทรงห้าม
﴾ وَصَدَّقَ بِٱلۡحُسۡنَىٰ ﴿
6. และเชื่อมั่นในอัลฮุสนาหลักความเชื่อที่ถูกต้อง
อธิบาย: และเขาเชื่อในอัลฮุสนา มีความหมายหลายอย่างเช่น-สวรรค์โดยเชื่อว่ามีจริงมีการตอบแทนจริง -การปฏิญาณลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ เชื่อว่าไม่มีพระเจ้าที่แท้จริงที่ควรแก่การเคารพอิบาดะฮ์เว้นแต่อัลเลาะห์เท่านั้นรวมถึงหลักการศรัทธาทั้งหมดด้วย
-เชื่อในสัญญาที่อัลเลาะห์จะตอบแทนและทดแทนให้เขาเนื่องจากการบริจาค
﴾ فَسَنُيَسِّرُهُۥ لِلۡيُسۡرَىٰ﴿
7. เราจะช่วยให้ความดีนั้นเป็นที่ง่ายดายแก่เขา
อธิบาย: อัลเลาะห์จะให้การทำความดี การบริจาคในหนทางของอัลเลาะห์และการละทิ้งความชั่วนั้นเป็นที่ง่ายดายกับเขาเพราะเขาทำในสิ่งที่เป็นสาเหตุแห่งการได้รับความง่ายดายอัลลอฮจึงให้เขาเช่นนั้น คำว่า อัลยุซรอ มีการอธิบายหลายความหมายเช่น – ความดี
– สวรรค์ -ผลตอบแทนความดีคือการทำความดีต่อจากนั้น
﴾ وَأَمَّا مَنۢ بَخِلَ وَٱسۡتَغۡنَىٰ ﴿
. และส่วนคนที่ตระหนี่และถือว่าตนไม่ต้องพึ่งพา(อัลเลาะห์)
﴾ وَكَذَّبَ بِٱلۡحُسۡنَىٰ ﴿
9. และปฏิเสธหลักความเชื่ออันถูกต้อง
อธิบายอายะฮ์ 8-9: อัลเลาะห์ทรงบอกมนุษย์ให้ยอมรับถึงความกรุณาของพระองค์ที่ให้เขาในดุนยานี้โดยมีดวงตาทั้งสองลิ้นและริมฝีปากทั้งสองซึ่งมีประโยชน์มากมาย
﴾ فَسَنُيَسِّرُهُۥ لِلۡعُسۡرَىٰ ﴿
10. เราจะให้ความชั่วเป็นที่ง่ายดายแก่เขา
อธิบายอายะฮ์ที่ 8-10: ส่วนคนที่ตระหนี่ทรัพย์สินไม่จับจ่ายเสียสละให้ในเรื่องความดีและถือตนว่าไม่ต้องพึ่งพาขอความโปรดปรานใดๆจากอัลเลาะห์แล้ว เพราะเห็นว่าตัวเขามีทรัพย์สินมากแล้ว และเขาก็ปฏิเสธหลักความเชื่ออันถูกต้องหรือไม่เชื่อสิ่งที่อัลเลาะห์สัญญาตอบแทนในการบริจาคใช้จ่ายทรัพย์สินไปในทางของพระองค์ พระองค์จะให้การทำชั่วเป็นที่ง่ายดายกับเขาและการทำดีเป็นที่ยากลำบากกับเขา
ท่านนบีصلى الله عليه وسلم กล่าวว่า “ไม่มีชีวิตใดผูกให้มีชีวิตขึ้นเว้นแต่ได้ถูกกำหนดที่ของมันไว้แล้วในสวรรค์หรือไม่ก็ในนรกชายคนหนึ่งกล่าวว่าทำไมเราไม่ปล่อยไปตามกำหนดบันทึกเลยล่ะและละทิ้งการงานเลยไม่ต้องทำแล้ว ท่านนบีกล่าวว่าไม่แต่พวกเจ้าจงทำเพราะทุกคนนั้นได้รับความสะดวกสู่สิ่งที่ถูกกำหนดให้แก่เขา ชาวนรกนั้นก็จะได้รับความสะดวกสู่การทำการงานของชาวนรก ชาวสวรรค์นั้นก็จะได้รับความสะดวกสู่การทำงานของชาวสวรรค์แล้วท่านก็อ่านอายะ (5-10)”
นี่เป็นการยืนยันหลักศรัทธาในเรื่องก่อดอก่อดัรการกำหนดของอัลเลาะห์ หน้าที่ของมุสลิมคือเชื่อศรัทธาพร้อมทั้งกระทำความดีที่เป็นสาเหตุที่อัลเลาะห์ให้เข้าสวรรค์ด้วยความเมตตาของพระองค์มิใช่ปล่อยปละ ไม่ทำอะไรเลยซึ่งเป็นแนวความคิดของพวกหลงผิดเช่นพวกยับรียะฮ (ที่กล่าวอ้างว่าไม่ต้องทำอะไรแล้วเพราะอัลเลาะห์กำหนดไว้แล้ว)พวกก้อดรียะ(ที่ปฏิเสธการกำหนดของอัลเลาะห์โดยถือว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีบันทึกกำหนดใดๆไว้เลย)
﴾ وَمَا يُغۡنِي عَنۡهُ مَالُهُۥٓ إِذَا تَرَدَّىٰٓ ﴿
11. และทรัพย์สินของเขาก็ช่วยอะไรเขาไม่ได้เมื่อเขาตกนรก
อธิบาย: และทรัพย์สินที่เขาตระหนี่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเขาได้เลยเมื่อเขาตายไปหรือเมื่อเขาตกลงสู่นรก ส่วนทรัพย์สินที่เขาจำเป็นต้องจ่ายซะกาตหรือทานภาคบังคับต่างๆแล้วเขาไม่จัดการก็จะกลายเป็นการลงโทษแก่เขาอีกด้วย
﴾إِنَّ عَلَيۡنَا لَلۡهُدَىٰ ﴿
12. แท้จริงการชี้แจง(ความถูกต้อง)นั้นเป็นหน้าที่ของเรา(อัลลอฮ์)
อธิบาย: –หน้าที่ของอัลเลาะห์คือการชี้แจงหนทางสัจธรรมและหนทางแห่งความเท็จรวมทั้งสิ่งฮาลาลอันเป็นที่อนุมัติและสิ่งฮะรอมอันเป็นที่ต้องห้าม
-หนทางสัจธรรมที่ถูกต้องนั้นจะทำให้ใกล้ชิดกับความพอพระทัยของอัลเลาะห์ส่วนหนทางหลงผิดนั้นนำไปสู่การลงโทษของพระองค์นั้นเอง – เป็นสิทธิ์ของพระองค์ผู้เดียวในการให้บ่าวนั้นตอบรับสัจธรรมหรือให้หลงผิด การฮิดายะมีสองประเภท 1.ฮิดายะเตาฟีก การให้บ่าวตอบรับ ได้รับความสำเร็จ ดังกล่าวเป็นสิทธิของอัลลอฮผู้เดียว 2. ฮิดายะอิรช้าด การชี้แนะ บอกสอนชี้แจง ก็มาจากอัลลอฮและให้บรรดาร่อซู้ล ผู้รู้ทำหน้าที่นี้ด้วย
﴾ وَإِنَّ لَنَا لَلۡأٓخِرَةَ وَٱلۡأُولَىٰ ﴿
13. และแท้จริงอาคีเราะห์ปรโลกและดุนยาโลกนี้ล้วนเป็นกรรมสิทธิ์ของเรา
อธิบาย : ทั้งหมดล้วนเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลเลาะห์เพียงผู้เดียวฉะนั้นจงมุ่งหวังยังพระองค์เพียงผู้เดียวเท่านั้นและผู้ใดแสวงหาดุนยาและอาคิเราะห์ จากผู้อื่นแล้วแน่นอนเขาหลงผิดแล้ว
﴾ فَأَنذَرۡتُكُمۡ نَارٗا تَلَظَّىٰ ﴿
14. ฉะนั้นข้า(อัลเลาะห์) เตือนพวกเจ้าให้ระวังไฟนรกที่ลุกโชน
อธิบาย : อัลลอฮเตือนพวกเจ้ามนุษย์ทั้งหลายให้ระวังไฟนรกที่ลุกโชนหากพวกเจ้าฝ่าฝืนพระองค์ นรกนั้นคือนรกญะฮันนัมซึ่งลุกโชนตลอดไม่ใช่อย่างเช่นไฟในดุนยานี้ท่านนบี กล่าวว่า “ชาวนรกที่ถูกลงโทษสถานเบาที่สุดคือใส่รองเท้าจากไฟนรกทำให้สมองเดือดดังเช่นหม้อเดือด ตัวเขาเองไม่คิดว่าใครจะโดนหนักกว่าเขาอีกแล้วทั้งที่จริงแล้วนั่นแหละคือการลงโทษสถานเบาที่สุด”(บันทึกโดยมุสลิม) อนึ่งการใช้คำว่า นรกโดยไม่เจาะจงนั้นเพื่อยิ่งให้รู้สึกน่าสะพรึงกลัวมากยิ่งขึ้น
﴾لَا يَصۡلَىٰهَآ إِلَّا ٱلۡأَشۡقَى﴿
15. ไม่มีผู้ใดจะถูกให้เข้าไปเผาไหม้ในนั้นนอกจากผู้ทุกข์ทรมานเหนื่อยยากยิ่ง(ชาวนรก)
อธิบาย : ผู้ที่ลงนรกตลอดกาลคือกาฟิรผู้ปฏิเสธศรัทธา มุชริกผู้ตั้งภาคี ส่วนผู้ศรัทธาที่ฝ่าฝืนนั้นขึ้นอยู่กับอัลเลาะห์ทรงประสงค์ว่าจะอภัยให้เขาโดยเข้าสวรรค์เลยหรือจะส่งลงโทษเขาในนรกแต่เขาจะไม่ได้อยู่ในนั้นตลอดกาล เพราะสุดท้ายเขาจะได้ออกมาเข้าสวรรค์ดังปรากฏในฮะดีษศอเฮี้ยฮหลายบทด้วยกัน ซึ่งพวกก้อดยานีเอง(กลุ่มที่ไม่ใช่มุสลิม)ได้ปฏิเสธดังกล่าวโดยอ้างว่าแม้แต่กาฟิร มุชริก นั้นต่างไม่ได้อยู่ในนรกตลอดกาล เพียงอยู่แค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น
﴾ ٱلَّذِي كَذَّبَ وَتَوَلَّىٰ ﴿
16. คือผู้ปฏิเสธและหินหลังให้
อธิบาย : คือผู้ที่ปฏิเสธต่อท่านนบีและสิ่งที่ท่านนำมาไม่เชื่อสัญญาของอัลเลาะห์การตอบแทนสวรรค์นรกและอื่นๆอีกทั้งยังเป็นหลังให้กับการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลเลาะห์ ฉะนั้นเมื่อใจปฏิเสธจึงนำพาให้การกระทำนั้นผินหลังตามไปด้วยท่านนบี กล่าวว่า “ประชาชาติของฉันทั้งหมดนั้นจะได้เข้าสวรรค์เว้นแต่คนที่ไม่ยอมเข้า พวกเขาถามว่าท่านรอซูลแล้วใครเล่าไม่ยอมเข้าท่านกล่าวว่าใครเชื่อฟังฉันเขาได้เข้าสวรรค์และใครฝ่าฝืนฉันนั่นแหละเขาไม่ยอมเข้า” บันทึกโดยอัลบุคอรี 7280
﴾ وَسَيُجَنَّبُهَا ٱلۡأَتۡقَى ﴿
17. และผู้มีความยำเกรงยิ่งนั้นจะได้รับการให้ออกห่างให้ไกลจากมัน(ไฟนรก)
อธิบายอายะฮ์ : ผู้ที่ถูกให้ออกห่างและไม่ได้เข้าสู่นรกนั้นคือผู้ที่ยำเกรงยิ่ง ทำตามที่อัลเลาะห์ทรงใช้ออกห่างสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม ผู้อธิบายหลายท่านบอกว่าอายะเหล่านี้ถูกประทานเกี่ยวกับความดีงามของท่านอบูบักร
﴾ٱلَّذِي يُؤۡتِي مَالَهُۥ يَتَزَكَّىٰ﴿
18. คือผู้ที่บริจาคทรัพย์ของตนเพื่อขัดเกลาตนเอง
อธิบายอายะฮ์ : คือผู้บริจาคทรัพย์เพื่อขัดเกลาตนไม่ให้เป็นคนตระหนี่และชำระตนจากความผิดบาปและลักษณะอันน่าตำหนิต่างๆโดยหวังเพื่อพระพักตร์ของอัลเลาะห์ ดังกล่าวนั้นต้องดูถึงความสำคัญของการให้นั้นๆด้วยมิใช่บริจาคภาคสมัครใจแต่กลับละทิ้งภาคบังคับเช่นซะกาต การใช้หนี้ เป็นต้น
﴾ وَمَا لِأَحَدٍ عِندَهُۥ مِن نِّعۡمَةٖ تُجۡزَىٰٓ ﴿
19. โดยเขามิได้หวังบุญคุณตอบแทนใดๆจากผู้ใดเลย
อธิบายอายะฮ์ : และการที่เขาบริจาคช่วยใครไปนั้นมิได้หวังบุญคุณจากผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือใดๆเลย ท่านสะอีด อิบนุลมุซัยยิบ บอกว่าพวกมุชริกกล่าวว่า ที่ท่านอบูบักรไถ่ตัวท่านบิลาลนั้นเนื่องด้วยหวังผลประโยชน์จากบิลาล อัลเลาะห์จึงทรงประทานอายะห์นี้เป็นการบอกให้ทราบว่าฉันไม่ได้หวังผลประโยชน์ตอบแทนใดๆจากคนที่ได้ช่วยไว้เลย
﴾ إِلَّا ٱبۡتِغَآءَ وَجۡهِ رَبِّهِ ٱلۡأَعۡلَىٰ﴿
20. หากแต่เพื่อหวังต่อพระพักตร์ของพระเจ้าของเขาที่สูงส่งที่สุดเท่านั้น
อธิบายอายะฮ์ : ที่เขาบริจาคนั้นเพื่อหวังต่อพระพักตร์ที่สูงส่งที่สุดของอัลเลาะห์และแสวงหาความพอพระทัยของพระองค์เท่านั้น คุณลักษณะสูงส่งที่สุดนั้นเป็นการยืนยันว่าอัลเลาะห์ทรงอยู่เบื้องบนสูงสุดมิใช่อย่างที่กลุ่มหลงผิดกล่าวหาว่าอัลเลาะห์ไม่มีทิศหรืออัลเลาะห์อยู่ทุกที่ทั่วไปซึ่งนับเป็นความเชื่อที่ผิดจากแนวทางอันถูกต้องจากอัลกุรอานแนวทางของท่านนบีและบรรพชนดีๆรุ่นแรกของอิสลาม.
ท่านอิบนุกะซีรอธิบายว่า คือการหวังอยากจะได้รับสิทธิ์ในการเห็นพระพักตร์ของอัลเลาะห์ในอาคิเราะฮในสวนสวรรค์ พระพักตร์คือหน้าของอัลเลาะห์นั้นเราเชื่อและศรัทธาว่ามีจริงตามที่ทรงบอก โดยไม่เปรียบเทียบกับสิ่งใดหรือตีความปฏิเสธใดๆทั้งสิ้น โดยยืนยันพื้นฐานที่ว่า “ไม่มีสิ่งใดเหมือนพระองค์และพระองค์ทรงได้ยินทรงเห็น” (อัชชูรอ42/11)
﴾ وَلَسَوۡفَ يَرۡضَىٰ﴿
21. และ(สาบานด้วยอัลเลาะห์ว่า)เขาจะพอใจอย่างแน่นอน
อธิบายอายะฮ์ : อักษร ลาม นั้นคือการสาบาน หมายถึงอัลเลาะห์ทรงสาบานด้วยพระองค์เองว่าเขา(ผู้ที่ยำเกรงยิ่งนั้น)จะพอใจสิ่งที่พระองค์ตอบแทนให้เขาในสวรรค์อย่างแน่นอนซึ่งเป็นการตอบแทนในสิ่งที่เขาได้ทำไป ฉะนั้นเราท่านจงควรขวนขวายทำในสิ่งที่เป็นสาเหตุสู่สวรรค์และห่างจากไฟนรกเถิดตามกำลังความสามารถไม่ว่าจะเสียสละบริจาคหรือคำพูดดีๆก็ตามท่านนบีกล่าวว่า “จงปกป้องระวังตนจากไฟนรกถึงแม้จะด้วยการบริจาคแค่ซีกหนึ่งของอินทผาลัมก็ตามหากไม่มีก็ด้วยคำพูดที่ดี” (บันทึกโดยอิบนุฮิบบาน 2804) และท่าน นบีกล่าวว่า “ผู้ใดบริจาคแม้แค่เทียบเท่าอินทผาลัมคนเดียวซึ่งมาจากวิถีทางที่ถูกต้องดีงาม(และอัลลอฮ์นั้นทรงไม่รับสิ่งใดนอกจากเป็นสิ่งดีงาม)อัลลอฮ์จะทรงรับมันไว้ด้วยมือขวาของพระองค์แล้วทรงดูแลมันให้กับเจ้าของมันดังเช่นที่พวกเจ้าดูแลลูกม้าที่ยังไม่หย่านม ดูแลจนใหญ่เช่นภูเขา” บันทึกโดยอัลบุคอรี 1410