บทเรียนวิชาการอิสลาม ศูนย์อิสลามศึกษามัสยิดดาริสสลาม
ประจำวันเสาร์ที่ 27 ส.ค 2565
วิชาอะฮ์วาลชัคซียะฮ์ (الاحوال الشخصية)
อ.มุบาร็อก แดงโกเมน
ในหลักการอิสลามนั้นการเรียนรู้และการทำความเข้าใจก่อนการปฏิบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้นถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้การปฏิบัติหรืออิบาดะต่างๆของเรานั้นดำเนินไปอย่างถูกต้องและถูกตอบรับ ณ ที่อัลลอฮุตะอาลา ด้วยเหตุดังกล่าวนี้การเรียนรู้และทำความเข้าใจหรือพูดคุยกันในประเด็นของการแต่งงานให้เข้าใจทั้งสองฝ่าย จึงเป็นสิ่งจำเป็นก่อนที่จะทำพิธีนิกาฮ์หรือแต่งงาน ซึ่งในหลักการของอิสลามได้ให้แนวทางที่สำคัญ ๆ เอาไว้ดังนี้
- เกณฑ์ของอิสลามในการเลือกบุคคลมาเป็นภรรยาหรือสามี
1. เลือกคนโสดที่มีตักวา(ยำเกรงเคร่งครัดในศาสนา)
- หลักฐานจากอัลกุรอาน อัลลอฮ์ทรงตรัสไว้ในซูเราะฮ์อันนูร อายะฮ์ที่ 32 ว่า
﴿ وَأَنكِحُواْ ٱلۡأَيَٰمَىٰ مِنكُمۡ وَٱلصَّٰلِحِينَ مِنۡ عِبَادِكُمۡ وَإِمَآئِكُمۡۚ
إِن يَكُونُواْ فُقَرَآءَ يُغۡنِهِمُ ٱللَّهُ مِن فَضۡلِهِۦۗ وَٱللَّهُ وَٰسِعٌ عَلِيمٞ﴾
ความว่า : “และจงให้พวกเจ้าแต่งงานกับผู้เป็นโสดในหมู่พวกเจ้า และกับคนดี ๆ จากบ่าวผู้ชายของพวกเจ้า และบ่าวผู้หญิงของพวกเจ้า หากพวกเขายากจน อัลลอฮฺทรงให้พวกเขาร่ำรวยขึ้นจากความโปรดปรานของพระองค์ และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงไพบูลย์ ผู้ทรงรอบรู้”
- หลักฐานจากซุนนะฮ์ มีรายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮ์ ได้รายงานว่าท่านรอซูล ได้กล่าวไว้ว่า:
(( تُنْكَحُ المَرْأَةُ لأَرْبَـعٍ: لِـمَالِـهَا، وَلِـحَسَبِـهَا، وَجَـمَالِـهَا، وَلِدِينِـهَا، فَاظْفَرْ بِذَاتِ الدِّينِ تَرِبَتْ يَدَاكَ))
ความว่า: “สตรีนั้นจะถูกแต่งงานเนื่องด้วยสาเหตุสี่ประการ คือ เนื่องจากทรัพย์สินของนาง เนื่องจากวงศ์ตระกูลของนาง เนื่องจากความสวยงามของนาง หรือเนื่องจากศาสนาของนาง ดังนั้นจงเลือกแต่งงานกับสตรีที่มีศาสนาเคร่งครัดในอิสลาม แล้วท่านจะพบเจอสิ่งที่ดีๆ”[1]
2. เลือกคนที่มีความพร้อมทั้งในด้านคุณภาพและกายภาพ
- ด้านคุณภาพ คือ มีความพร้อมในการแต่งงาน ไม่ว่าจะเป็นค่ามะฮัร ที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น นะฟะเกาะฮ์ (ค่าเลี้ยงดูและปัจจัยยังชีพต่างๆ ที่สามีจำเป็นจะต้องจ่ายให้แก่ภรรยา) อาหารและเครื่องนุ่งห่มที่จำเป็น เป็นต้น
- ด้านกายภาพ คือ สภาพร่างกายต้องปราศจากข้อบกพร่องที่จะส่งผลเสียในการแต่งงาน เช่น ไม่สามารถร่วมหลับนอนกับภรรยาได้ มีอาการทางจิต หรือไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เป็นต้น
- หลักฐานจากซุนนะฮ์ มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ มัสอูด ว่า ท่านรอซูล ได้กล่าวกับพวกเราว่า:
((يَا مَعْشَرَ الشَّبَابِ، مَنِ اسْتَطَاعَ مِنْكُمُ الْبَاءَةَ فَلْيَتَزَوَّجْ،فَإِنَّهُ أَغَضُّ لِلْبَصَرِ،
وَأَحْصَنُ لِلْفَرْجِ، وَمَنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَعَلَيْهِ بِالصَّوْمِ؛ فَإِنَّهُ لَهُ وِجَاءٌ.)) مُتَّفَقٌ عَلَيْهِ
ความว่า: “บรรดาชายหนุ่มทั้งหลาย ผู้ใดในหมู่พวกเจ้านี้มีความสามารถรับภาระการมีครอบครัวได้ เขาจงรีบแต่งงานเสีย เพราะด้วยการแต่งงานนั้นจะทำให้เขาสยบสายตาต่ำลง และ สามารถป้องกันอวัยวะเพศจากการผิดประเวณีได้ และใครที่ ไม่มีความสามารถที่จะมีครอบครัวได้ก็จงถือศีลอดเถิด เพราะการถือศีลอดเป็นการยับยั้งอารมณ์ใคร่ได้”[2]
อีกฮะดีษหนึ่งท่านรอซูล ได้กล่าวว่า:
((تزوَّجوا الوَدودَ الولودَ فإنِّي مُكاثرٌ بِكُمُ الأُممَ،))
ความว่า: “พวกท่านจงแต่งงานกับกับสตรีที่มอบความรักและอ่อนโยน(ต่อสามีและต่อลูกๆ)และสตรีที่ให้กำเนิดลูกได้มาก เพราะฉันจะได้นำไปอวดกับประชาชาติก่อนหน้านี้”[3]
* สตรีที่ดีในทัศนะอิสลามนั้น คือ สตรีที่มีคุณธรรมและจริยธรรม คือในยามที่ท่านมองไปยังนางแล้วท่านจะมีความสุข เมื่อท่านให้คำสั่งแก่นางแล้วนางก็จะปฏิบัติตาม และนางจะไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ท่านไม่พอใจ ไม่ว่าด้วยเรื่องของนางเองหรือในเรื่องของทรัพย์สินของท่าน นางจะปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ์สั่งและหลีกเลี่ยงในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม
- กลุ่มบุคคลที่ศาสนาห้ามไม่ให้ทำการแต่งงานด้วย (المحرمات في النكاح)
อีกประการที่มุสลิมจำเป็นที่ต้องทราบก่อนการแต่งงานนั้นคือ (มะฮ์รอม) บุคคลที่ศาสนาห้ามไม่ให้ทำการแต่งงานด้วยไม่ว่าจะถาวรหรือชั่วคราว ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆดังนี้
- กลุ่มแรกคือ ถูกห้ามแต่งงานตลอดไป แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
ประเภทที่ 1 มะฮ์รอมทางเชื้อสาย บุคคลประเภทนี้ คือ
1. พ่อ หรือพ่อของพ่อ หรือพ่อของแม่ จนกระทั่งในระดับสูงขึ้นไปจากฝ่ายชายและหญิง (ปู่ ตา ปู่ทวด ตาทวด…)
2. ลูกชายและลูกของลูก จนกระทั่งระดับต่ำลงไป เช่น หลาน เหลน โหลน จากลูกชายและลูกสาว
3. พี่ชายและน้องชาย ทั้งที่พ่อแม่เดียวกัน และพ่อเดียวกันแต่คนละแม่ หรือแม่เดียวกันแต่คนละพ่อก็ตาม
4. ลูกชายของพี่ชายและน้องชาย ลูกชายของพี่สาวและน้องสาว ทั้งที่พ่อแม่เดียวกัน และพ่อเดียวกันแต่คนละแม่ หรือแม่เดียวกันแต่คนละพ่อก็ตาม
5. ลุง ป้า (พี่ของพ่อหรือแม่) และน้า อา (น้องของแม่หรือพ่อ)
ประเภทที่ 2 มะฮ์รอมด้วยการร่วมแม่นมเดียวกัน
การดื่มนมร่วมแม่นมเดียวกันห้ามแต่งงานกันตลอดชีวิต อุละมาอ์ส่วนใหญ่เห็นว่า การดื่มนมนั้นต้องดื่มจำนวน 5 อิ่มขึ้นไป
ประเภทที่ 3 มะฮ์รอม ด้วยการสมรส
ผู้ที่ถือว่าเป็นมะฮฺรอมจากการแต่งงาน คือบุคคลที่ห้ามไม่ให้แต่งงานกันตลอดชีวิต อันได้แก่ ภรรยาของลูกชาย ภรรยาของพ่อ แม่ของภรรยา ลูกชายของสามี ลูกสาวของภรรยา(หากว่ามีการร่วมหลับนอนกันแล้ว)
- กลุ่มที่สองคือ ถูกห้ามแต่งงานชั่วคราว คือ
- พี่สาวหรือน้องสาว น้าหรือป้าของภรรยาโดยทางสายเลือดหรือร่วมแม่นมเดียวกัน แต่หากว่าภรรยาเสียชีวิตหรือหย่าร้าง ก็เป็นที่อนุญาตหลังจากหมดระยะเวลาอิดดะฮ์แล้ว
- สตรีที่อยู่ในอิดดะฮ์ จนกว่าจะหมดระยะเวลาอิดดะฮ์แล้ว
- สตรีที่อยู่ในความดูแลของสามีนาง
- ภรรยาที่ถูกอย่า 3 ครั้ง จนกว่านางจะแต่งงานใหม่และอย่าร้างกัน
- สตรีที่กำลังอยู่ในช่วงประกอบพิธีฮัจญ์หรืออุมเราะฮ์
- ชนต่างศาสนิกจนกว่าบุคคลนั้นจะเข้ารับอิสลาม
- รายละเอียดและประเด็นอื่นๆ ต่อครั้งหน้า…….อินชาอัลลอฮ์
[1] บันทึกโดย บุคอรีย์ 5090 และ มุสลิม 1466)
[2] บันทึกโดย บุคอรีย์ 5066 และมุสลิม 1400
[3] บันทึกโดยอะหมัดและอิบนิฮิบบาน