ว่าด้วยเรื่องของการจ่าย “ฟิดยะฮ์” ฟิดยะฮ์คืออะไร…..?
คำว่า “ฟิดยะฮ์” เราอาจจะเคยได้ยินได้ฟังกันอยู่บ่อยๆ คำๆนี้นั้นอาจมีนัยยะที่หมายถึง ค่าชดใช้จากการละเมิดข้อห้ามในการประกอบพิธีฮัจญ์หรือมีนัยยะที่หมายถึง อาหารที่จ่ายให้แก่คนยากจนเพื่อทดแทนการถือศีลอดที่เป็นวาญิบสำหรับผู้ที่ไม่สามารถถือศีลอดได้ ซึ่งฟิตยะฮ์ในความหมายที่จะกล่าวถึงในบทความนี้นั้นคือฟิดยะฮ์ อาหารสำหรับผู้ที่ไม่สามารถถือศีลอดที่เป็นวาญิบได้ ประเด็นหลักๆที่จะกล่าวถึงคือ
1. บุคคลใดบ้างที่จำเป็นต้องจ่ายฟิดยะฮ์
2. อาหารที่สามารถที่จะทำการจ่ายฟิดยะฮ์ได้และปริมาณที่จะต้องจ่ายออกไป
3. วิธีการและเวลาที่จะทำการจ่ายฟิดยะฮ์
ขอสรุปทั้ง3ประเด็นคร่าวๆดังนี้
** ประเด็นแรก…บุคคลใดบ้างที่จำเป็นต้องจ่ายฟิดยะฮ์ **
ประเด็นนี้แยกเป็น2ประเภทคือ
- ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันไม่ต้องถือศีลอด แต่จำเป็นต้องจ่ายฟิตยะฮ์พร้อมกับต้องถือศีลอดชดใช้ด้วย คือ
1.สตรีที่ตั้งครรภ์และสตรีที่ให้นมบุตรหากนางไม่ถือศีลอด เนื่องจากเกรงว่า จะเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์หรือทารก โดยที่ไม่ได้ส่งผลเสียหรือเป็นอันตรายต่อตัวนางเอง อนุญาตให้นางทั้งสองละศีลอดได้ แตได้มีความขัดแย้งกันในเรื่องการถือศิลอดชดใช้และการจ่ายฟิดยะฮฺ ของนักวิชาการในประเด็นดังกล่าว ดังนี้
* ทัศนะแรกมีความเห็นว่า หากนางไม่ถือศีลอด เนื่องจากเกรงว่า จะเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์หรือทารกในครรค์นางทั้งสองจำเป็นต้องถือศีลอดชดใช้ พร้อมทั้งต้องจ่ายฟิดยะห์ (อาหารสำหรับคนยากจน) 1 มื้อทุกวันที่ขาดการถือศีลอดไป ทัศนะนี้เป็นทัศนะของท่านอิมามอะหมัดอิบนิฮันบัล โดยอาศัยหลักฐานจากอายะฮ์อัลกุรอานที่ว่า
“(وَعَلَى الَّذِينَ يُطِيقُونَهُ فِدْيَةٌ طَعَامُ مِسْكِينٍ)”
ความว่า : ความว่า: และบรรดาผู้ที่ถือศีลอดด้วยความลำบากยิ่ง (โดยที่เขาได้งดเว้นการถือ) นั้น คือการชดเชยอันได้แก่การให้อาหาร(มื้อหนึ่ง)แก่คนยากจนคนหนึ่ง (ต่อการงดเว้นจาการถือหนึ่งวัน) “( อัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ 2:184
* ทัศนะที่สองมีความเห็นว่า จำเป็นต้องจ่ายฟิดยะฮ์ (อาหารสำหรับคนยากจน) 1 มื้อทุกวันที่ขาดการถือศีลอดไปเท่านั้นโดยที่ไม่ต้องถือศิลอดชดใช้ ทัศนะนี้เป็นทัศนะของอิบนุอับบาสและอิบนุอุมัร
* ทัศนะที่สามมีความเห็นว่า จำเป็นต้องถือศีลอดชดใช้เท่านั้น ไม่ต้องจ่ายฟิดยะฮ ทัศนะนี้เป็นทัศนะของมัซฮับ ฮะนะฟี และปราชญ์ในยุคตาบิอีน เช่นท่าน อะฏออฺ ท่านซุฮรี่ ท่านฮะซัน ท่านสะอีดอิบนิญุเบร ท่านนัคอีย์ เป็นต้น
* การเลี้ยงอาหารคนยากจนแทนจากการออกข้าวสารฟิดยะฮฺ ตามจำนวนวันที่ขาดไป (หากขาดบวช 30 วัน ก็เลี้ยงอาหารคนยากจน จำนวน 30 คน เป็นต้น) ก็มีทัศนะของเหล่าสาวก ตอบเอาไว้ เช่นการปฏิบัติของท่านอนัสบินมาลิก ท่านอิมามอิบนิตัยมียะฮ์ เป็นต้น
- ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันไม่ต้องถือศีลอด แต่จำเป็นต้องจ่ายฟิตยะฮ์ (อาหารสำหรับคนยากจน) เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องถือศีลอดชดใช้
อัลเลาะฮ์ ทรงตรัสว่า
“(وَعَلَى الَّذِينَ يُطِيقُونَهُ فِدْيَةٌ طَعَامُ مِسْكِينٍ)”
ความว่า: และบรรดาผู้ที่ถือศีลอดด้วยความลำบากยิ่ง (โดยที่เขาได้งดเว้นการถือ) นั้น คือการชดเชยอันได้แก่การให้อาหาร(มื้อหนึ่ง)แก่คนยากจนคนหนึ่ง (ต่อการงดเว้นจาการถือหนึ่งวัน) “( อัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ 2:184
ท่านสะอีดอิบบิญุบัยรเล่าว่า ท่านอิบนุอับบาสอ่านอัลกุรอานในอายะฮ์ที่ว่า
“(وَعَلَى الَّذِينَ يُطِيقُونَهُ فِدْيَةٌ طَعَامُ مِسْكِينٍ)”
“และบรรดาผู้ถือ(ศิลอด) โดยลำบากยิ่ง การชดใช้คือการให้อาหารแก่คนขัดสนหนึ่งคน) ท่านอิบนิอับบาส กล่าวว่า เป็นข้อผ่อนผันสำหรับผู้ที่ชราภาพทั้งชายและหญิง โดยทั้งสองไม่สามารถถือศิลอดได้ ให้ทั้งสองละศิลอดแล้วจ่ายฟิตยะฮ์ (อาหาร )เป็นการทดแทนแก่คนยากจนทุกๆวัน บันทึกโดยอิมามบุคอรี ฮะดีษเลขที่ 4505
จากอัลกุรอานอายะฮ์ข้างต้นระบุถึงผู้ที่ไม่สามารถถือศิลอดได้ เช่นนี้วาญิบสำหรับเขาผู้นั้นจำต้องให้อาหารแก่คนยากยากจนแทนทุกๆวัน อันได้แก่บุคคลต่อไปนี้
1) คนป่วยเรื้อรัง หรือคนป่วยไม่มีหวังที่จะหาย เช่นโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคไต ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานอาหารและยาอยู่เป็นประจำ
2) คนชราภาพ ทั้งชายและหญิงที่สูงอายุและมีความอ่อนแอ ซึ่งการถือศีลอดเป็นสิ่งที่ยากลำบากแก่เขาหรืออาจส่งผลเสียให้แก่ตัวของเขาได้
** อาหารที่สามารถที่จะทำการจ่ายฟิตยะฮ์ได้และปริมาณที่จะต้อ งจ่ายออกไป **
- อาหารที่สามารถที่จะทำการจ่ายฟิตยะฮ์ได้ ได้แก่ ข้าวสาลี อินทผาลัมแห้ง ข้าวบาเล่ แป้ง หรืออาหารที่ผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆใช้รับประทานกันเป็นอาหารหลัก เช่น ข้าวสารหรือข้าวเหนียวชนิดต่างๆ เป็นต้น
- ปริมาณที่ต้องจ่ายฟิตยะฮ์…หลักฐานชัดเจนว่าให้จ่ายฟิตยะฮฺ แต่ไม่มีหลักฐานปรากฎชัดว่าต้องจ่ายฟิดยะฮฺ ในปริมาณเท่านไร ไม่พบหลักฐาที่ชัดเจน จึงต้องอาศัยคำอธิบายของเศาะหะบะฮฺ และบรรดานักวิชาการ ที่ระบุปริมาณของฟิตยะฮฺ ซึ่งมีความแตกต่างกัน ขอสรุปคร่าวๆดังนี้
- ทัศนะของมัซฮับมาลิกีและชาฟิอีย์มีความห็นว่า ปริมาณที่จะต้องจ่ายฟิตยะฮ์คือ 1 มุด หรือ ¼ ศออฺ คือ 750 กรัมโดยประมาณ
- ทัศนะของมัซฮับฮะนาฟีมีความห็นว่า ปริมาณที่จะต้องจ่ายฟิตยะฮ์คือ 1 ศออฺ คือ 3 กิโลกรัม โดยประมาณ ยกเว้นข้าวสาลี ที่ต้องจ่ายในปริมาณ 1.5 กิโลกรัมโดยประมาณ
- ทัศนะของมัซฮับฮัมบาลีมีความห็นว่า ปริมาณที่จะต้องจ่ายฟิตยะฮ์คือ 1.5 กิโลกรัม โดยประมาณ ยกเว้นข้าวสาลี ที่ต้องจ่ายในปริมาณ 750 กรัมโดยประมาณ
- ท่านเชคบินบาซกับเชคอุซัยมีนมีความห็นว่า ปริมาณที่จะต้องจ่ายฟิตยะฮ์คือ ½ ศออฺ จากอาหารหลักที่ใช้รับประทาน คือ 1.5 กิโลกรัมโดยประมาณ โดยให้จ่ายให้แก่คนยากจนทุกวัน ท่านเชค อุซัยมีนชอบให้จ่ายพร้อมกับแกง เนื้อ หรือกับข้าวเคียงคู่ไปด้วยก็จะเป็นการดี
** วิธีการและเวลาที่จะทำการจ่ายฟิตยะฮ์ **
- วิธีการจ่ายฟิตยะฮ์
นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นพ้องกันว่า สามารถจ่ายอาหารครั้งเดียวให้เพียงพอต่อ 30 วันเลยก็ได้หรือจะจ่ายตามวันที่ขาดการถือศีลอดไปก็ได้เช่นกัน โดยเชิญคนยากจนมารับอาหารหรือเลี้ยงอาหารแก่พวกเขาคร้งเดียวเลยก็ได้ตามจำนวนวันที่ขาดไป ทัศนะดังกล่าวนี้เป็นทัศนะของมัซฮับฮะนาฟี มัซฮับมาลิกี มัซฮับฮัมบาลี ท่านชัยคุ้ลอิสลามอิบนิตัยมียะฮ์ ท่านเชคบินบาซ ท่านเชคอุซัยมีน ท่านเชคอัชชันกีฏีย์ และเป็นที่เห็นพ้องของสภาวินิจฉัยปัญหาแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอารเบีย โดยอาศัยหลักฐานดังนี
عنْ أَنَسِ بْنِ مَالِكٍ رضي الله عنه: ” أَنَّهُ ضَعُفَ عَنِ الصَّوْمِ عَامًا، فَصَنَعَ جَفْنَةً مِنْ ثَرِيدٍ، وَدَعَا ثَلاثِينَ مِسْكِينًا فَأَشْبَعَهُمْ ” (رواه الدارقطني وصححه الألباني )
จากท่านอนัสบินมาลิก (ขออัลลอฮ์ทรงพอพระทัยท่าน) ได้เล่าว่า ท่านนั้นไม่สามารถที่จะถือศีลอดได้ในปีนั้น ท่านจึงทำอาหารที่ทำมาจากเศษขนมปัง แล้วได้เชิญคนยากจน 30 คนมารับประทานจนกระทั่งอิ่ม (รายงานโดยอิมามดารุ้ลกุฏนีย์ เป็นฮะดีษซอฮี๊ฮ ในทัศนะของเชคอัลบานีย์) นอกจากนี้ยังมีรายงานจากหนังสือ อัลมุฆนีย์ของท่านอิบนิกุดามะฮ์ (ขออัลลอฮ์ทรงพอพระทัยท่าน) ว่า ท่านอิมามอะหมัดอิบนิฮันบัลได้ถูกถามถึงหญิงคนหนึ่งที่ขาดการถือศีลอดในเดือนรอมฏอน..? ท่านอิมามอะหมัดถามว่า นางขาดกี่วัน…? ผู้ที่มาถามตอบว่า 30 วัน ครับ ท่านอิมาม อะหมัดจึงตอบไปว่า ให้เชิญคนยากจนมา 30 คนแล้วเลี้ยงอาหารให้แก่พวกเขาจนอิ่มพร้อมกันทีเดียวเลย ผู้ที่มาถามถามต่อว่า จะเลี้ยงอาหารอะไรแก่พวกเขา..? ท่านอิมามตอบว่า ขนมปังและเนื้อหากท่านมีความสามารถโดยดูจากอาหารที่ท่านมีอยู่.
ในประเด็นนี้นั้นท่านอิมามอบูฮะนีฟะฮ์อนุญาตให้จ่ายเป็นเงินแทนการจ่ายเป็นอาหารได้ โดยท่านให้เหตุผลว่า เป้าหมายของฟิตยะฮ์นั้นคือการช่วยบรรเทาทุกข์แก่คนยากจน การจ่ายเงินให้ตรงนี้นั้นก็เป็นการช่วยบรรเทาทุกข์เช่นกัน ฉะนั้นจึงอนุญาตให้จ่ายเงินทดแทนการจ่ายเป็นอาหารได้ ในเรื่องนี้นั้นท่านอิมามอิบนิตัยมียะฮ์ก็มีความเห็นเช่นเดียวกับท่านอิมามอบูฮะนีฟะฮ์ โดยท่านเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนยากจนจริงๆ ในหนังสือ อัลมัจมูอญ์ฟะตาวาของท่าน ท่านได้กล่าวว่า : ส่วนการจ่ายเป็นเงินแทนนั้นสำหรับผู้ที่มีเดือดร้อน หรือเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับ หรือในด้านความเป็นธรรม ก็ถือว่ากระทำได้.
- เวลาใดที่จะทำการจ่ายฟิตยะฮ์
* นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นพ้องกันว่า ไม่อนุญาตให้จ่ายฟิตยะฮ์ก่อนเข้าเดือนรอมฏอน ท่านอิมามอันนะวาวีย์ได้กล่าวใว้ในตำราอัลมัจมูอฺฮฟะตาวาของท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “พวกเรามีมติเห็นพ้องตรงกันว่าไม่อนุญาตให้คนชรา ผู้ที่ป่วยที่ไม่สามารถถือศีลอดได้ทำการจ่ายฟิตยะฮ์ก่อนเข้ารอมฏอน”
* อนุญาตให้จ่ายฟิตยะฮ์ในช่วงท้ายของเดือนรอมฏอนหรือในทุกๆวันที่ขาดการถือศีลอดได้ ส่วนการจ่ายฟิตยะฮ์ในช่วงต้นเดือนรอมฏอนครั้งเดือนตลอดเดือนรอมฏอนนั้นไม่อนุญาตให้กระทำตามความเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่เนื่องด้วยการจ่ายฟิตยะฮ์นั้นเป็นการจ่ายโดยมีสาเหตุและความจำเป็น
* ท่านเชคอุซัยมีนกล่าวในตำราของท่านที่มีชื่อว่า الشرح الممتع ว่า : เวลาที่จะทำการจ่ายฟิตยะฮ์นั้นสามารถกระทำเวลาใดก็ได้ที่สะดวก จะท่านให้ทุกๆวันที่ขาด หรือจะจ่ายครั้งเดียวในช่วงท้ายรอมฏอนดังเช่นการปฏิบัติของท่านอนัสก็ได้เช่นกัน
* เงื่อนไขของการจ่ายฟิตยะฮ์ก็คือต้องตั้งเจตนาขณะที่จ่าย – ต้องจ่ายให้แก่ผู้ที่ยากจนขัดสนเท่านั้น – ไม่อนุญาตจ่ายให้แก่ผู้ที่ไม่ไช่มุสลิม – ไม่อนุญาตที่จะจ่ายให้แก่ผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของเรา เช่น ภรรยา ลูก พ่อแม่ เป็นต้น
* สมควรที่จะจ่ายให้แก่ญาติใกล้ชิดที่มีความยากจนขัดสนก่อนที่จะจ่ายให้แก่ผู้อื่น จ่ายให้แก่คนดีๆที่มีความเคร่งตรัดในศาสนา
- ฮุก่มของผู้ที่มีอุปสรรค์ในการถือศีลอดที่ไม่สามารถจ่ายฟิตยะฮ์ได้
* คนชรา ผู้ที่ป่วยที่ไม่สามารถถือศีลอดได้และไม่สามารถจ่ายฟิตยะฮ์ได้ ก็ไม่จำเป็นสำหรับเขาในการจ่ายฟิตยะฮ์ และการถือศีลอดใช้ก็ถือว่าเป็นอันตกไปด้วย ท่านอิมามอิบนิกุดามะฮ์ได้กล่าวในประเด็นนี้ว่า “ผู้ที่ชราภาพทั้งชายและหญิงนั้น หากว่าทั้งสองเกิดความยากลำบากเป็นอย่างมากในการถือศีลอด ก็ให้ทั้งสองนั้นไม่ต้องถือศีลอดแต่ต้องจ่ายอาหารให้แก่คนยากจนทุกๆวัน(ตามจำนวนวันที่ขาดไป) แต่หากว่าไม่มีความสามารถที่จะจ่ายอาหารด้วย ก็ไม่ต้องจ่าย ” (อัลมุฆนีย์ เล่ม 4หน้า 396) ท่านเชคบินบาซก็เห็นด้วยกับทัศนะดังกล่าว(ดู มัจมูอญ์ฟะตาวาของเชคบินบาซ เล่ม 15 หน้า 203) ซึ่งทัศนะนี้เป็นทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่และมีน้ำหนักมากกว่าทัศนะอื่น