** แนวทางของชาวสลัฟในการตัฟซีรอัลกุรอานและหลักฐานที่สนับสนุนในเรื่องนี้ **
โดย อ.มุบาร็อก แดงโกเมน (ตอนที่ 2)
** บทความนี้เนื่องจากมีความยาวจึงแบ่งออกเป็น 2 ตอน
ตอนที่ 1 จะกล่าวถึงประมวลองค์ความรู้และหลักการพื้นฐานของการอรรธถาธิบายอัลกุรอาน (อุศูลุตตัฟซีร) ตอนที่ 2 จะกล่าวถึงแนวทางของชาวสลัฟในการตัฟซีรอัลกุรอานและหลักฐานที่สนับสนุนในเรื่องนี้.
เรื่องของอัลกุรอานนั้นเป็นเรื่องของอะกีดะฮ์ เป็นเรื่องที่จะต้องระวังเป็นอย่างมาก เพราะอะกีดะฮ์นั้นคือตัวแปรในอิบาดะฮ์อื่นๆทั้งหมด อิสลามจึงวางมาตรฐานการอ้างอิงในเรื่องราวของศาสนา โดยเฉพาะในเรื่องอะกีดะฮ์ ด้วยกับบรรดาบรรทัดฐานที่มาจากอัลกุรอาน ซุนนะฮ์ อิจมาอฺ การอธิบายใดๆต้องสอดคล้องและอยู่ในกรอบของบรรทัดฐานเหล่านี้ ฉะนั้นกลุ่มบุคคนที่จะต้องให้ความสำคัญและคำนึงถึงในการรายงานองค์ความรู้ของศาสนาเป็นอันดับแรก คือกลุ่มคนที่อยู่ในสมัยท่านนบี เพราะพวกเขาเห็นถึงการลงมาของอัลกุรอาน เข้าใจในการอธิบายความความหมายอัลกุรอาน เข้าใจภาษาอาหรับเป็นอย่างดีซึ่งเป็นภาษาของอัลกุรอาน ทั้งสำนวนของภาษาอาหรับในการทำความเข้าใจอัลกุรอานและฮะดีษ. ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาทัศนะของบรรดาอุละมาอ์สะลัฟ จากนักอรรถาธิบายอัลกุรอาน โดยเฉพาะการตัฟซีรของท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ผู้ซึ่งรอบรู้และเชี่ยวชาญการให้ความหมายของอัลกุรอาน และถือเป็นอาจารย์ของอุละมาอ์ยุคตาบิอีนหลายๆท่าน ทั้งนี้เนื่องจากอิบนุอับบาสนั้นได้ท่องจำอัลกุรอานตั้งแต่เยาว์วัย ศึกษาค้นคว้าสาเหตุการประทานอายาะฮ์ต่างๆ และยังได้รวบรวมความรู้ด้านการอธิบายอัลกุรอานจากบรรดาเศาะฮาบะฮฺรุ่นอาวุโส อีกทั้งยังได้รับการขอดุอาอฺจากท่านนบีให้เขามีความเข้าใจในเรื่องศาสนา และมีความรู้เรื่องการอรรถาธิบายอัลกุรอาน นอกจากท่านอิบนิอับบาสก็ยังมีซอฮาบะฮ์อีกหลายท่านที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ เช่น ท่านอิบนุมัสอูด ท่านอิบนุอุมัรฺ ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิอัมรฺ อิบนิอาศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม เป็นต้น ซึ่งทัศนะและการให้ความหมายอัลกุรอานของท่านเหล่านี้ได้รับการสืบทอดโดยสานุศิษย์ของพวกท่านเรื่อยมาจนมาถึง อุละมาอ์ในยุคที่เริ่มมีการแต่งหนังสือตัฟซีรเฉพาะ เช่นอิมามอัฏฏอบรี่ อิมามอิบนิกะษีร เป็นต้น โดยหลักการอรรธถาถิบายอัลกุรอานตามแนวทางของอุละมาอฺที่ยึดมั่นตามแนวทางแห่งชนชาวสลัฟนั้น จะทำการอธิบายอัลกุรอานโดยใช้อัลกุรอาน อธิบายโดยใช้ฮะดีษ อ้างอิงสายรายงานไปถึงบรรดาเศาะฮาบะฮ์เป็นหลัก รองลงมาคือยึดแนวทางการอธิบายของตาบีอีนและจากปวงปราชญ์ด้านตัฟซีร ซึ่งการพิจารณาดูทัศนะของ ซอฮาบะฮ์ ตาบิอีนและอุละมาอ์ในยุคแรกๆนั้นถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างที่สุด เนื่องจากบรรดาซอฮาบะฮ์ได้มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาแห่งการประทานอัลกุรอาน พวกท่านจึงเป็นผู้ที่เข้าใจความหมายอัลกุรอานได้ดีที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนตาบิอีนก็ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากซอฮาบะฮ์อีกขั้น จึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าผู้ที่ต้องการเข้าใจอัลกุรอานอย่างถูกต้องลึกซึ้งจะต้องศึกษาการให้ความหมายของบรรดาท่านเหล่านั้นเป็นสำคัญ
** ตัวอย่างจากหลักฐานที่มาจากปราชญ์ในยุคอดีตและปราชญ์ร่วมสมัยรวมถึงนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในเรื่องของ การตัฟซีรที่ยึดมั่นในแนวทางแห่งสลัฟ ดังนี้
• ปวงปราชญ์ในยุคอดีต **
ท่านอิบนิอับบาสได้รายงานว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า : “ผู้ใดที่กล่าวในเรื่องของอัลกุรอานด้วยกับทัศนะความเห็นของเขา โดยที่เขาไม่มีองค์ความรู้…ดังนั้นเขาจงตระเตรียมที่นั่งของเขาในไฟนรก” และอีกสำนวนหนึ่งที่รายงานโดยท่านญุนดุบที่ว่า ท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์ได้กล่าวว่า:“ผู้ใดที่กล่าวในเรื่องของอัลกุรอานด้วยกับทัศนะความเห็นของเขา และถือเป็นความผิด ถึงแม้ว่าในเชิงนัยยะความหมายดังกล่าวจะถูกต้องก็ตาม”.(บันทึกโดยอิมามอบูดาวุดและอิมามอัตติรมีซีย์)
อิมามอิบนิกะษีรกล่าวว่า “”ทุกๆองค์ความรู้ที่ไม่ได้มาจากอัลกุรอานนั้นถือว่าไม่เที่ยงธรรม เว้นแต่องค์ความรู้ที่มาจากอัลฮะดีษและความเข้าใจอย่างลึกซึ้งทางศาสนา โดยองค์ความรู้นั้นจะต้องเป็นความรู้ที่ได้รับมาจากสายรายงาน (จากท่านนบีและซอฮาบะฮ์) ส่วนองค์ความรู้ที่ไม่ได้รับมาจากสายรายงานนั้นถือเป็นการกระซิบของชัยฏอน” (อัลบิดายะฮ์วัลนิฮายะฮ์ เล่ม11หน้า19)
ท่านชัยคุ้ลอิสลามอิบนิตัยมียะฮ์กล่าวว่า “เมื่อท่านไม่พบการอธิบาย (อายะฮ์หนึ่งอายะฮ์ใดในอัลกุรอาน) ด้วยการอธิบายด้วยอัลกุรอานหรืออธิบายด้วยกับซุนนะฮ์ของท่านนบี ก็ให้กลับไปดูคำกล่าวของบรรดาซอฮาบะฮ์ที่กล่าวถึงในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากว่าพวกเขาเหล่านั้นรู้เรื่องดังกล่าวนั้นเป็นอย่างดี พวกเขาเป็นพยานรู้เห็นถึงการลงมาของอัลกุรอานและสภาพการณ์ต่างๆที่เฉพาะสำหรับพวกเขา ทำให้มีความเข้าใจในการอธิบายความความหมายอัลกุรอานอย่างลึกซึ้ง เป็นองค์ความรู้ที่ถูกต้องไม่ว่าจะเป็นบรรดาปวงปราชญ์และบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ของพวกเขา (เช่นบรรดาสี่เคาะลีฟะฮ์ผู้ทรงธรรมและบรรดาอิมามที่อยู่ในทางนำที่ถูกต้อง)” (มุก็อดดิมะฮ์ฟีอุศูลตัฟซีร หน้า 95)
ท่านอิมามอิบนิตัยมียะฮ์ยังได้กล่าวเสริมในหนังสือเล่มเดียวกันหน้า 102 ว่า “เมื่อท่านไม่พบการอธิบาย (อายะฮ์หนึ่งอายะฮ์ใดในอัลกุรอาน) ด้วยการอธิบายด้วยอัลกุรอาน การอธิบายด้วยกับซุนนะฮ์ของท่านนบีและการอธิบายของบรรดาซอฮาบะฮ์ แน่นอนว่าบรรดาอิมามทางด้านการตัฟซีร(มุฟัรซิรีน)ก็จะกลับไปดูคำกล่าวของบรรดาตาบีอีน.”
ชัยคุ้ลอิสลามอิบนิตัยมียะฮ์กล่าวว่า “ผู้ใดที่ทำการอรรถธาธิบายอัลกุรอานหรือฮะดีษ ซึ่งตีความโดยไม่อาศัยการตัฟซีรจากบรรดาซอฮาบะฮ์ จากบรรดาตาบีอีน เขานั้นได้อธรรมต่ออัลลอฮุตะอาลา เป็นผู้ที่ออกไปจากสัญญานต่างๆของอัลลอฮุตะอาลา (ออกจากแนวทางที่ถูกต้อง) ผู้ที่เปลี่ยนความหมายของคำ (ในอัลกุรอานและฮะดีษ)ไปจากความหมายที่สมควรจะเป็นและถูกต้องไปสู่ความหมายอื่นๆ การกระทำดังกล่าวเป็นการเปิดประตูสู่หนทางของพวกซะนาดิเกาะ (ภายนอกศรัทธาแต่ปกปิดการปฏิเสธศรัทธาไว้ภายใน) และนำไปสู่กลุ่มที่ออกจากอิสลาม ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นกลุ่มที่โกหกปลิ้นปล้อน และเป็นภัยอันตรายต่ออิสลาม..”(มัจมูอฺฟะตาวาเล่ม13หน้า130-131)
นอกจากนี้ชัยคุ้ลอิสลามอิบนิตัยมียะฮ์ยังได้อธิบายเสริมในประเด็นนี้ในตำราอัลมัจมูอฺฟะตาวา เล่ม 13 หน้า 361 อีกว่า “บุคคลใดที่ทำการอรรธถาธิบายอัลกุรอานแล้วการอธิบายนั้นไปค้านหรือไม่ตรงกับการอธิบายของบรรดาซอฮาบะฮ์ การอธิบายดังกล่าวนั้นเป็นการอธิบายที่ผิดไม่ถูกต้องในตัวบทหลักฐานและการอ้างอิงทั้งหมด”
ท่านอิบนิก็อยยิมอัลเญาซีย์ได้กล่าวว่า “ไม่มีข้อสงสัยใดๆเลยว่าบรรดาซอฮาบะฮ์คือกลุ่มบุคคลที่สมควรที่สุดที่ชนรุ่นหลังที่จะอธิบายอัลกุรอานต้องรับเอาการตัฟซีรมาจากพวกเขา พวกเขาคือผู้ที่รู้ดีที่สุดแห่งประชาชาติอิสลามในเป้าประสงค์ของอัลลอฮ์จากคัมภีร์ของพระองค์ พวกเขาอยู่ในช่วงเวลาแห่งการประทานอัลกุรอาน เป็นชนกลุ่มแรกที่ได้ถูกเทศนาจากประชาชาตินี้ พวกเขาได้รู้ได้เห็นการอธิบายอัลกุรอานจากท่านรอซูลุลลอฮ์ทั้งองค์ความรู้และการปฏิบัติ พวกเขาคือชาวอาหรับที่มีความแตกฉานในภาษาอาหรับอย่างแท้จริง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่พบว่ามีหนทางใดๆเลยที่จะละเลยการอรรธถาธิบายอัลกุรอานของพวกเขา” (อิฆอซะฮ์อัลลุฮฺฟาน 1/344)
c• ปราชญ์ร่วมสมัย **
เชคเฟาซานฮะฟิเฏาะฮุ้ลลอฮ์กล่าวว่า “การอรรธถาธิบายอัล กุรอานที่ถูกต้องและมีหลักเกณฑ์นั้น ดังกล่าวมีแนวทางที่บรรดาอิมามทางด้าน ตัฟซีรได้บอกเอาไว้ว่า การตัฟซีรนั้นจะไม่ตัฟซีรด้วยกับแนวทางอื่นๆ นอกเหนือจากแนวทางดังกล่าวนี้ คือ. อรรธถาธิบายอัลกุรอานด้วยกับอัลกุรอาน อรรธถาธิบายอัลกุรอานด้วยกับซุนนะฮ์ อรรธถาธิบายอัลกุรอานด้วยกับการอรรธถาธิบายของบรรดาซอฮาบะฮ์ อรรธถาธิบายอัลกุรอานด้วยกับการอรรธถาธิบายของบรรดาตาบีอีน อรรธถาธิบายอัลกุรอานด้วยกับภาษาที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา คือภาษาอาหรับ ดังกล่าวนี้คือทิศทางการอรรธถาธิบายอัลกุรอาน ส่วนการอธิบายที่นอกเหนือไปจากทิศทางนี้นั้น มันคือสิ่งที่เป็นแนวคิดใหม่ๆที่ไม่มีรากฐานที่มาใดๆเลย และไม่อนุญาตให้ทำการอรรธถาธิบายอัลกุรอานด้วยกับการใช้ทัศนะความเห็นมาทำการอธิบาย ท่านอิหม่ามฮาฟิซอิบนิกะษีรได้บอกเอาไว้ในช่วงแรกของตำราตัฟซีรของท่าน คือฮะดีษอันทรงคุณค่าที่ว่า “ผู้ใดที่กล่าวในเรื่องของอัลกุรอานด้วยกับทัศนะความเห็นของเขา โดยที่เขาไม่มีองค์ความรู้…ดังนั้นเขาจงตระเตรียมที่นั่งของเขาในไฟนรก และถือเป็นความผิด ถึงแม้ว่าในเชิงนัยยะความหมายดังกล่าวจะถูกต้องก็ตาม” (คำฟัตวาเลขที่ 2255 วันที่ 3/4/2006)
เชคอุซัยมีนได้อธิบายฮะดีษดังกล่าวข้างต้นเอาไว้ดังนี้ว่า“และการตัฟซีรอัลกุรอานด้วยสติปัญญานั้น บางทีผู้คนก็จะตัฟซีรไปตามมัซฮับของพวกเขา ดังเช่นการกระทำของกลุ่มอารมณ์นิยม โดยพวกนั้นจะกล่าวว่า: จุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายของอายะฮ์นั้นเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ดังกล่าวคือสิ่งที่อธิบายให้ไปตรงกับแนวทาง (มัซฮับ)ของพวกเขา และบรรดาคนในยุคหลังๆก็เช่นเดียวกัน ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นได้ทำการอธิบายอัลกุรอานด้วยกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่พวกเขาได้รับมา ทั้งในเรื่องดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ โดยอัลกุรอานนั้นไม่ได้บ่งชี้ในเรื่องดังกล่าวนั้น พวกเขาอธิบายอัลกุรอานด้วยสติปัญญาของพวกเขา เมื่อกุรอานไม่ได้บ่งชี้ถึงสิ่งดังกล่าวนั้น ไม่มีตัวบทหลักฐาน (ทั้งจากอัลกุรอาน ซุนนะฮ์ การอธิบายของซอฮาบะฮ์) และไม่มีข้อบ่งชี้ทางด้านภาษา แต่มันคือการใช้สติปัญญาของพวกเขา ซึ่งไม่เป็นที่อนุญาตที่จะตัฟซีรด้วยกับการใช้สติปัญญา”(ชัรฮฺมุก็อดดิมะฮ์อัตตัฟซีรโดยเชคอุซัยมีนหน้าที่1)
นอกจากเชคอุซัยมีนและเชคเฟาซานแล้ว ยังพบว่ามีปราชญ์ร่วมสมัยอีกหลายท่านที่ยึดแนวทางการตัฟซีรตามแนวทางของสลัฟและไม่เห็นด้วยกับการตัฟซีรอัลกุรอานด้วยกับวิทยาศาสตร์ เช่นเชค อับดุลลอฮ์ บินกุอูต เชค อับดุลลอฮ์ บินฆุดัยยาน เชค อับดุลรอซาก อะฟีฟีย์ เชค อับดุลอะซีร บินอับดุลลอฮ์ บินบาซ เชคซะอดฺ บินอับดิลเราะฮมาน อัลฮุศอยนฺ เชคอุมัร บาซมูล เป็นต้น.
c•องค์กรณ์และนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในเรื่องของการตัฟซีร**
ศูนย์ตัฟซีรเพื่อการศึกษาอัลกุรอาน (مركز تفسير للدراسات القرآنية) ที่ได้รวบรวมอุละมาอฺที่มีชื่อเสียงและเชี่ยวชาญทางด้านการตัฟซีรจากทั่วโลกอิสลาม ตั้งอยู่ที่กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดิอารเบีย จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาอัลกุรอานและทำการอรรถธาธิบายอัลกุรอานด้วยแนวทางที่ถูกต้องตามแนวทางแห่งสลัฟซอและฮ์โดยไม่มีการตีความหรืออธิบายแตกต่างไปจากแนวทางของสลัฟ ซึ่งประกอบไปด้วยนักอุละมาอฺและวิชาการที่เชี่ยวชาญในด้านการ ตัฟซีรจากทั่วโลกอิสลาม ภายใต้การควบคุมดูแลของสภานักวิชาการด้านการตัฟซีร อันประกอบไปด้วย ศ.ดร. มุซาอิด บิน สุไลมาน อัฏฏอยยาร. ศ.ดร.อับดุรรอมาน บิน มะอาเฏาะอัชชิฮฺรี่. ดร.อะฮฺหมัด บิน ฮัมหมัดอัลบะรีดีย์. ดร.มุฮัมหมัด นาศิร อัลมาญิด. นอกจากนี้ทางศูนย์ยังได้มอบหมายให้นักวิชาการที่เชี่ยวชาญทางด้านอะกีดะฮ์โดยเฉพาะ 3 ท่านตรวจสอบในด้านนี้ด้วย คือ ศ.ดร.ซะอดฺ บิน ริฟาอฺ อัลอุตัยบีย์. ศ.ดร.อับดุลอะซีซ บิน มุฮัมหมัด อาล อับดุลลาตีฟ. ดร.อับดุลลอฮ์ บิน อัลดุลอะซีซ อัลอันกอรีย์
โดยแนวทางการตัฟซีรของศูนย์ตัฟซีรนี้จะอาศัยสำนวนการตัฟซีรของอิมามอัฏฏอบรี่เป็นหลักเมื่อมีการเห็นต่างกันในการตัฟซีร และยึดถือแนวทางการถ่ายทอดการอธิบายอัลกุรอานจากท่านนบี บรรดาซอฮาบะฮ์ บรรดาตาบีอีนและบรรดาผู้ที่ยึดตามแนวทางของพวกเขาที่อัลลอฮุตะอาลาทรงพอพระทัย.
ตัวอย่างการตัฟซีรในตำรามุคตะศอรฟีตัฟซีร ซึ่งทางศูนย์ได้จัดทำขึ้นมา ในอายะฮ์ที่ 30 ซูเราะฮ์อัลอันบิยาอฺ ที่ว่า:
﴿ أَوَلَمْ يَرَ الَّذِينَ كَفَرُوا أَنَّ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضَ كَانَتَا رَتْقًا فَفَتَقْنَاهُمَا وَجَعَلْنَا مِنَ الْمَاءِ كُلَّ شَيْءٍ حَيٍّ ﴾ (الأنبياء:30
ความว่า: “และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาเหล่านั้นไม่เห็นดอกหรือว่า แท้จริงชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินนั้นแต่ก่อนนี้รวมติดเป็นอันเดียวกัน แล้วเราได้แยกมันทั้งสองออกจากกัน และเราได้ทำให้ทุกสิ่งมีชีวิตมาจากน้ำ ดังนั้นพวกเขาจะยังไม่ศรัทธาอีกหรือ”
โดยอธิบายว่า: และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮ์ไม่รู้หรือว่า แท้จริงชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินนั้นแต่ก่อนนี้เคยรวมติดเป็นอันเดียวกันมาก่อนไม่ได้แยกออกจากกัน ภายหลังฝนได้ตกลงมาแล้วเราได้แยกสิ่งทั้งสองออกจากกัน และเราได้ทำให้น้ำที่หล่นมาจากฟ้าลงสู่แผ่นดินนั้นเกิดทุกๆสิ่งขึ้นมา ทั้งสัตว์ต่างๆและพืชนาๆชนิด พวกเขา (ผู้ที่ปฏิสธ)ยังไม่พิจรณาถึงสิ่งดังกล่าวอีกหรือ…และศรัทธาต่ออัลลอฮ์แต่เพียงองค์เดียวเท่านั้น..!? (มุคตะศอรฟีตัฟซีร หน้า 324)
การอธิบายดังกล่าวจะเห็นได้ว่าอาศัยการอธิบายตามการอธิบายของซอฮาบะฮ์ ตาบีอีนและ อุละมาอฺทางด้านตัฟซีร โดยไม่นำทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์ใดๆมาเกี่ยวข้องเลย เช่น ทฤษฏีบิกแบงค์ เป็นต้น ซึ่งอายะฮ์ที่ 30 ซูเราะฮ์อัลอันบิยาอฺนั้น ในปัจจุบันได้มีคนจำนวนมากนำไปอธิบายให้สอดคล้องกับทฤฏีบิ๊กแบงค์หรือนำเอาทฤษฏีดังกล่าวมาอธิบายให้สอดคล้องกับอายะฮ์ดังกล่าวนี้ ซึ่งดังกล่าวไม่ไช่สิ่งที่ผู้ที่ปราถนาแนวทางแห่งสลัฟนั้นจะกระทำกัน
** สรุป… หลักการอรรธถาถิบายอัลกุรอานตามแนวทางของอุละมาอฺที่ยึดมั่นตามแนวทางแห่งชนชาวสลัฟนั้น จะทำการอธิบายอัลกุรอานโดยใช้อัลกุรอาน อธิบายโดยใช้ฮะดีษ อ้างอิงสายรายงานไปถึงบรรดาเศาะฮาบะฮ์เป็นหลัก รองลงมาคือตาบีอีนและจากปวงปราชญ์ด้านตัฟซีร โดยที่บรรดาท่านเหล่านี้นั้นจะไม่เอาแนวทางที่นอกเหนือจากแนวทางที่ได้กล่าวมาข้างต้นมาอธิบายอัลกุรอานอย่างเด็ดขาด ดังเช่นกลุ่มที่ไม่ได้ดำเนินตามแนวทางสลัฟและยึดถือหลักการและกฎเกณฑ์ของการตัฟซีร เช่น กลุ่มมุอฺตะซิละฮ์ กลุ่ม อะชาอิเราะฮ์ กลุ่มก็อดยานีย์ กลุ่มอารมณ์นิยมหรือการอธิบายอัลกุรอานด้วยวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ดังกล่าวนี้คือแนวทางการอธิบายอัลกุรอานหลักๆที่ปรากฏอยู่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนเหลือเกินว่าแนวทางแห่งบรรพชนในยุคซอฮาบะฮ์ กลุ่มชนในยุคตาบีอีน คือแนวทางที่ปลอดภัยที่สุด ดีที่สุดสำหรับมุสลิมทุกคน.
وبالله التوفيق والهداية