การตลาดแบบเครือข่าย (MLM)

หมวดหมู่ : ,

·

·

การตลาดแบบเครือข่าย (MLM)
ลักษณะ รูปแบบและข้อวินิจฉัยทางนิติศาสตร์อิสลาม
เรียบเรียงโดย มุบาร็อก แดงโกเมน

การตลาดขายตรงหลายชั้น Multi-level Marketing หรือที่เรียกกันว่า การตลาดแบบเครือข่าย Network Marketing นั้น เป็นหลักการตลาดที่ให้ผู้คนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการกระจาย สินค้าจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค โดยผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆนั้นจะได้รับผลตอบแทนจากกิจกรรมที่ทำ เช่น แนะนำสินค้า การให้ผู้บริโภครายอื่นๆ เข้ามาร่วมเป็นผู้จำหน่ายสินค้า โดยแบ่งเป็นผลตอบแทนจากการทำธุรกิจเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันไปตามเงื่อนไขของแต่ละแบบแผน ดังนั้นหน้าที่หลักในกระจายสินค้าจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคตั้งแต่ การโฆษณาสินค้า หาตัวแทนจำหน่าย จัดจำหน่าย การขาย ขนส่งไปจนถึงผู้บริโภค จะมีผู้ร่วมธุรกิจเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นจำนวนมาก โดยทำหน้าที่ต่างๆกันไป ทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางการตลาดที่มีศักยภาพสูงมากและมีความรวดเร็วในการ กระจายสินค้าสูง และเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนในการเริ่มต้นที่ต่ำอย่างไม่เคยมีมาก่อน

(Barker, & Neher 2012) ได้ให้คำนิยามไว้ว่า: วิธีการขายแบบเครือข่ายที่ช่วยให้ผู้ที่มีส่วนร่วมสร้างเครือข่ายของตนเองได้ โดยสามารถสรรหาลูกค้าใหม่ๆ จำนวนมาก ด้วยการขายบริการหรือผลิตภัณฑ์เพื่อแลกกับค่าคอมมิชชั่นที่เขาจะได้รับเมื่อสามารถหาสมาชิกหรือลูกค้าใหม่ได้เพิ่มขึ้น

การตลาดแบบเครือข่าย (MLM) เป็นการทำการตลาดของผลิตภัณฑ์สินค้าหรือการบริการ โดยการสื่อสารให้ผู้บริโภคเชิญผู้ใช้รายอื่นๆให้ซื้อสินค้าเพื่อแลกกับค่าคอมมิชชั่นและยังได้รับเปอร์เซ็นต์ในกรณีที่ลูกค้าขายสินค้าได้ เพื่อให้เขากลายเป็นแม่ข่ายและมีลูกทีมเพื่อสร้างครือข่ายของลูกค้าที่สมัครรับข้อมูล หรือลูกค้าที่ซื้อสินค้าผ่านพวกเขา ตัวอย่างเช่น DXN Marketing Company ซึ่งเป็นบริษัทการตลาดแบบเครือข่ายที่ดำเนินธุรกิจในประเทศมาเลเซียจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผงซักฟอก และเครื่องสำอาง เมื่อคุณซื้อผลิตภัณฑ์ชิ้นใดชิ้นหนึ่งของบริษัท คุณจะกลายเป็นสมาชิกและจะได้รับชื่อและรหัสลับในบริษัท จากนั้นคุณก็จะเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งในระบบเครือข่าย หากจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นคุณจะได้รับเปอร์เซ็นต์ของเงินที่เพิ่มขึ้น ยิ่งคุณหาลูกค้าได้มากเท่าไร รายได้ของคุณก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น ด้วยกลไกนี้ใครก็ตามที่นำลูกค้าใหม่มาจะได้รับรายได้ที่สูง และใครก็ตามที่ไม่สามารถนำลูกค้ามาเพิ่มได้ เขาก็ไม่สามารถดำรงอยู่ในเครือข่ายนี้ได้และ จะต้องออกจากเครือข่ายไป

การตลาดแบบนี้เป็นรูปแบบที่กำหนดให้สมาชิกแต่ละคนชักชวนให้ผู้อื่นสมัครเพื่อแลกกับค่าคอมมิชชั่นที่สูงด้วยการนำผู้สนใจมาเข้าร่วมองค์กร หรือมีการฝึกอบรม ให้เทคนิควิธีการนำสมาชิกคนอื่นๆเข้ามาสู่ระบบ ไม่ได้หมายความว่าทางบริษัทไม่มีสินค้าที่จะซื้อขาย แต่เป้าหมายหลักที่มากกว่าคือการดึงดูดสมาชิกใหม่เป็นสำคัญ

ประเภทของการตลาดแบบเครือข่าย

การตลาดแบบเครือข่ายมีหลายประเภท ได้แก่:

1.ระบบไบนารี (Binary Plan)

เป็นแผนการจ่ายค่าตอบแทนที่ได้รับความนิยมมากแผนหนึ่ง มีโครงสร้างที่กำหนดให้ผู้แทนจำหน่ายอิสระมีลูกทีมติดได้ไม่เกิน 2 คน ดังนั้นหากผู้แทนจำหน่ายอิสระแนะนำสมาชิกใหม่คนที่ 3 เข้ามาก็จะต้องนำไปต่อให้กับลูกทีมคนใดคนหนึ่งในชั้นลึกลงไป จึงมี ลักษณะ Spill Over ซึ่งเป็นการช่วยเหลือให้ลูกทีมมีสายงานเพิ่มขึ้นด้วย ลูกทีมที่ติดตัวทั้งสองคนนั้นคนหนึ่งอยู่ด้านซ้าย และอีกคนหนึ่งอยู่ด้านขวา บางครั้งจะเรียกว่าทีมซ้ายและทีมขวาก็ได้ โดยปกติการให้ค่าตอบแทนจะนับคะแนนทีมซ้ายและทีมขวามาจับคู่ในจำนวนที่เท่าๆ กัน (หรือที่เรียกว่า Balanced Legs) แล้วคิดให้เป็นเปอร์เซ็นต์จากจำนวนคะแนน

การจ่ายค่าตอบแทนตามแผนไบนารี่นั้นมีลักษณะที่แบ่งออกได้เป็น แบบที่บังคับโครงสร้างและแบบที่ไม่บังคับโครงสร้าง

แผนไบนารี่แบบบังคับโครงสร้าง เป็นแบบที่กำหนดโครงสร้างลักษณะต่างๆไว้ เมื่อผู้แทนจำหน่ายอิสระสามารถสร้างทีมงานได้ตามโครงสร้างที่กำหนดก็จะได้ ค่าตอบแทนตามที่กำหนดไว้ในแผน เช่น หากสามารถสร้างทีมงานให้ได้ในชั้นที่ 4 และมีจำนวนลูกทีมที่อยู่ในทีมซ้ายและทีมขวาทีมละ 2 คน จะได้ค่าตอบแทน 1000 บาทเป็นต้น แผนแบบนี้อาจจะมีการเก็บคะแนนไว้ให้ตามโครงสร้างที่ทำได้ และไม่มีการตัดทิ้งคะแนนที่ได้เก็บไว้ให้แล้ว


แผนไบนารี่แบบไม่บังคับโครงสร้าง เป็นแบบที่ไม่กำหนดโครงสร้างที่จำเป็นต้องทำให้ได้คุณสมบัติ หรือกำหนดไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แล้วให้มีการจับคู่หรือนับคะแนนที่เท่ากันของทีมซ้ายและทีมขวา โดยมีโควต้าให้ในแต่ละรอบการคำนวณจะนับคู่หรือนับคะแนนให้ได้ไม่เกินจำนวน ที่กำหนดไว้ในแผน คะแนนส่วนที่เกินในรอบการคำนวณนั้นๆ ก็จะถูกตัดทิ้งไป การตัดคะแนนทิ้งเรียกว่า Flush
แผนไบนารี่แบบ Weak – Strong เป็น แบบที่ไม่บังคับโครงสร้างเช่นกัน นับคะแนนจากทีมซ้ายและทีมขวา ทีมใดมีคะแนนมากกว่าในรอบการคำนวนนั้น ก็จะเรียกว่า ทีมแข็ง หรือ Strong Team และทีมใดที่มีคะแนนน้อยกว่า ก็จะเรียกว่า Weak Team ในกรณีที่คะแนนเท่ากันทั้งสองทีมเราก็สามารถให้ทีมใดก็ได้เป็น Strong Team และ ทีมใดก็ได้เป็น Weak Team การจ่ายค่าตอบแทนก็จะจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขายทีมอ่อน แล้วนำคะแนนทีมอ่อนมาหัก คะแนนทีมแข็งออกไป เก็บคะแนนส่วนที่เหลือของทีมแข็งไว้ให้ก็ได้


การคิดคะแนนในระบบการคำนวณแบบไบนารี่นั้นอาจคิดจากยอด PV ของแต่ละทีม คือคิดเป็น PV หรือจะคิดเป็นจำนวนผู้แทนจำหน่ายอิสระ (จำนวนรหัส) ที่ครบตามคุณสมบัติต่างๆที่กำหนดไว้ก็ได้
แผนไบนารี่อีกลักษณะหนึ่งที่เป็นที่นิยมมากคือระบบ ที่มี Top-up หรือ Upgrade หรือที่เรียกว่าการเพิ่มจำนวนคู่หรือจำนวนคะแนนสูงสุดที่จะจับคู่ให้ได้ใน แต่ละรอบการคำนวณ เช่นโดยปกติการคำนวณธรรมดาอาจจะคิดให้ 5 คู่ในแต่ละรอบการคำนวณ หากผู้แทนจำหน่ายอิสระซื้อสินค้าเพิ่มเพื่อขึ้นตำแหน่งก็จะมีสิทธิในการจับ คู่ในแต่ละรอบการคำนวณเป็น 10 คู่ต่อรอบการคำนวณ เป็นต้น

2.ระบบเมทริกซ์ (Matrix Plan)

ระบบเมทริกซ์หรือแผนเน็ตเวิร์ก Network Plan หรือยูนิเลเวล Unilevel Plan เป็น แผนการจ่ายค่าตอบแทนที่เก่าแก่แผนหนึ่ง เป็นแผนการจ่ายค่าตอบแทนที่จ่ายค่าตอบแทนเป็นจำนวนร้อยละของยอดขายหรือคะแนน ในแต่ละชั้น ซึ่งจำกัดจำนวนชั้นที่จะจ่ายให้ลึกตามที่กำหนด หากไม่จำกัดจำนวนลูกทีมในชั้นที่หนึ่ง (หรือลูกทีมติดตัว หรือเรียกว่า Front line) เราเรียกว่า Unforced matrix คือเน็ตเวิร์กที่ไม่จำกัดจำนวนลูกทีมติดตัว (Front line) หรือที่เรียกว่า ยูนิเลเวล


แผนเมทริกซ์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งจำกัดจำนวนลูกทีมติดตัว ที่เรียกว่า Forced Matrix เป็นแผนที่จ่ายค่าตอบแทนเป็นชั้นๆ โดยจำกัดจำนวนลูกทีมติดตัว หรือ Front line ตามจำนวนที่กำหนด เช่น มีลูกทีมติดตัวได้ไม่เกิน 5 คน เมื่อเราได้แนะนำผู้แทนจำหน่ายอิสระเข้ามาเป็นลูกทีมเราได้ครบ 5 คนแล้ว เมื่อแนะนำคนต่อไปก็จะไม่สามารถต่อติดตัวเราได้อีก ต้องนำไปต่อในชั้นที่ 2 ซึ่งก็จะเป็นลูกทีมของลูกทีมของเราอีกทีหนึ่ง เราเรียกลักษณะการต่อสายงานแบบนี้ว่า การล้นชั้น หรือ Spill over ตัวอย่างของแผนเมทริกซ์แบบ 5×10 ก็คือมีลูกทีมติดตัวได้สูงสุด 5 คนและมีรายได้ลึกลงไป 10 ชั้น


การ Roll-Up เป็นลักษณะการคำนวนอันหนึ่งของแผนเมทริกซ์ ซึ่งมีประโยชน์ในกรณีที่ลูกทีมบางคนไม่ทำงานหรือไม่ซื้อสินค้าให้มีคะแนน เพื่อรักษาคุณสมบัติในการรับคอมมิชชั่นหรือโบนัส (Commission Qualifying) อัพไลน์หรือแม่ทีมจะสูญเสียโอกาสในการได้รับคอมมิชชั่นจากลูกทีมคนนี้ เพราะเขาไม่ได้ซื้อสินค้า การโรลอัพนั้นเป็นการดึงเอาลูกทีมคนถัดลงไปในสายงานขึ้นมาให้อยู่ในชั้นเดียวกับลูกทีมที่ไม่ได้รักษายอด จำนวน ชั้นและเปอร์เซ็นต์ที่ผู้แทนจำหน่ายอิสระจะได้รับผลประโยชน์ตามแผนเมทริกซ์ อาจเป็นแบบตายตัว หรือแบบปรับตามตำแหน่ง หรือปรับตามยอดคะแนนก็ได้ ทั้งนี้การปรับจำนวนชั้นและเปอร์เซ็นต์ที่จ่ายตามตำแหน่งหรือตามยอดคะแนนที่ ซื้อในรอบนั้น ก็เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้แทนจำหน่ายอิสระทำงานให้มากขึ้นเพื่อให้ได้ผล ประโยชน์มากขึ้นไปด้วย

3. ระบบไตรนารี่ (Trinary Plan)

เป็นแผนการจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นที่นิยมมากเช่นกัน โดยที่โครงสร้างขององค์กรผู้แทนจำหน่ายอิสระนั้นจะมีการจำกัดจำนวนลูกทีมที่ ติดตัวไว้เพียง 3 คน คือผู้แทนจำหน่ายอิสระใดๆจะมีลูกทีมติดตัวได้ไม่เกิน 3 คน เมื่อได้แนะนำผู้แทนจำหน่ายอิสระใหม่เข้ามาเป็นคนที่ 4 ก็จะต้องนำไปต่อให้ลูกทีมชั้นลึกลงไป จึงมีลักษณะ Spill Over ซึ่งเป็นการช่วยเหลือลูกทีม ทำให้เกิดการทำงานที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน การต่อสายงานผู้แทนจำหน่ายอิสระซึ่งเป็นลูกทีมคนแรกซึ่งอยู่ทางซ้ายมือสุด เราเรียกว่า ลูกทีมด้านซ้าย ลูกทีมที่อยู่คนถัดมา ซึ่งอยู่ตรงกลาง เราเรียกว่า ลูกทีมตรงกลาง และลูกทีมคนสุดท้ายที่อยู่ทางขวามือสุด เราเรียกว่าลูกทีมด้านขวา

การคิดค่าตอบแทนตามแผนไตรนารี่นั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกันแผนไบนารี่มาก เพียงแต่มีจำนวนทีมงานมากกว่าเท่านั้น ซึ่งจะมีลักษณะเป็นการจับคู่ตามรอบการคำนวณ (Balanced Legs) การจับคู่อาจเป็นคู่สอง ซึ่งหมายถึงการจับกันระหว่างคะแนนที่ได้จากทีมใดๆสองทีม ซึ่งอาจเป็นทีมซ้ายจับกับทีมกลาง ทีมกลางจับกับทีมขวา หรือทีมขวาจับกับทีมซ้ายก็ได้ ลักษณะการจับคู่อีกอย่างหนึ่งคือการจับคู่สาม คือการนับคะแนนหรือจำนวนรหัสจากทั้งสามทีม แล้วเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดคะแนนที่ได้เพื่อจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้กับผู้แทน อิสระ

การคิดแผนไตรนารี่นั้นเป็นได้ทั้ง แบบบังคับโครงสร้าง และไม่บังคับโครงสร้าง รวมทั้งสามารถมีลักษณะที่เป็น Top-Up หรือ Upgrade ได้ด้วยเช่นกัน

4. ระบบขั้นบันได (Stair-step)

เป็นลักษณะการคิดค่าตอบแทนให้กับผู้แทนจำหน่ายอิสระเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดคะแนนซื้อส่วนตัวและ/หรือยอดกลุ่มส่วนตัว หรือคิดเปอร์เซ็นต์ให้ตามตำแหน่งของผู้แทนจำหน่าย ณ เวลาที่คำนวณนั้น เมื่อลูกทีมได้รับผลประโยชน์เป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดคะแนนแล้ว ผู้ที่เป็นแม่ทีมจะสามารถได้รับผลประโยชน์จากยอดคะแนนเดียวกันนั้นก็ต่อ เมื่อแม่ทีมมีตำแหน่งสูงกว่าลูกทีม ตัวอย่าง เช่น กำหนดให้ตำแหน่งมี 3 ตำแหน่งคือ Bronze, Silver, Gold และมีผลตอบแทนของแต่ละตำแหน่งเป็นเปอร์เซ็นต์คือ 10% 20% และ 30% ตามลำดับ โครงสร้างทีมผู้แทนจำหน่ายเป็นดังนี้ นาย ก. เป็นผู้แนะนำหรือเป็นผู้สปอนเซอร์ นางสาว ข. เข้ามาร่วมธุรกิจ และ นางสาว ข. เป็นผู้แนะนำหรือเป็นผู้สปอนเซอร์ นาย ค. เข้ามาร่วมธุรกิจ และ นาย ก. มีตำแหน่งเป็น Gold 30% นางสาว ข. มีตำแหน่งเป็น Silver 20% และนาย ค. มีตำแหน่งเป็น Bronze 10% หากนาย ค. ซื้อสินค้ามีคะแนนในรอบการคำนวณนี้เป็น 1000 คะแนน นาย ค.จะได้เงินค่าตอบแทนเป็นเงิน 1000 คะแนน x 10% = 100 บาท และ นางสาว ข. จะได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน (1000 คะแนน x 20%) – (ค่าตอบแทนที่ได้จ่ายให้กับ นาย ค. ไปแล้ว 100 บาท) = 100 บาท และ นาย ก. จะได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน (1000 คะแนน x 30%) – (ค่าตอบแทนที่ได้จ่ายให้กับ นาย ค. และนางสาว ข. ไปแล้ว 200 บาท) = 100 บาท นับแล้วได้จ่ายเงินค่าตอบแทนเป็นจำนวน 30% ของยอดคะแนนของผู้แทนจำหน่าย ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดที่จะจ่ายแล้ว ก็จะไม่ต้องจ่ายให้ให้ผู้แทนจำหน่ายใดๆอีกต่อไปในสายงาน เราอาจเรียกแผนแบบนี้ตามลักษณะการคำนวณได้ว่าเป็นการจ่ายตามผลต่างของ เปอร์เซ็นต์ตามตำแหน่ง หากผลต่างของเปอร์เซ็นต์ตามตำแหน่ง แม่ทีม – ลูกทีม มีค่าเป็น 0 หรือ ค่าลบ ก็จะไม่จ่ายค่าตอบแทนให้กับแม่ทีมคนนั้น ซึ่งก็หมายความว่าแม่ทีมนั้นมีตำแหน่งน้อยกว่าหรือเท่ากับลูกทีม กรณีที่ตำแหน่งหรือเปอร์เซ็นต์ของลูกทีมมากกว่าหรือเท่ากับแม่ทีมเรียกกัน ทั่วไปว่า ตำแหน่งชนกัน

การคิดผลต่างของเปอร์เซ็นต์หรือผลประโยชน์ที่ผู้แทนจำหน่ายจะได้รับนั้นมี วิธีคิดผลต่าง % ตามตำแหน่ง หรือ ผลต่าง % ตามยอดคะแนนของกลุ่มก็ได้ แผนสแตร์สเตปนี้ เป็นแผนที่ใช้กันมานานแล้ว แต่ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ โดยมีธุรกิจเครือข่ายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเช่น กิฟฟารีน แอมเวย์ เป็นต้น

หุกุ่มข้อบัญญัตเกี่ยวกับธุรกิจแบบเครืข่าย(MLM)

• นักวิชาการร่วมสมัยมีความเห็นเกี่ยวกับธุรกิจแบบเครือข่ายออกเป็น 2 ทัศนะด้วยกัน ดังนี้

ทัศนะแรก : เป็นทัศนะของนักวิชาการร่วมสมัยบางส่วน เห็นว่า : “อนุญาตให้ทำธุรกิจแบบเครือข่ายได้(แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขเท่านั้นถึงจะอนุญาต) โดยนำเสนอหลักฐานที่อนุญาต คือดำรัสของที่อัลลอฮ์ในซูเราะอัลบะเกาะเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 275 ที่ว่า:

{وَأَحَلَّ اللَّهُ الْبَيْعَ وَحَرَّمَ الرِّبَا}

ความว่า: “และอัลลอฮ์ทรงอนุมัติการค้าขายและทรงห้ามดอกเบี้ย”

หลักฐานดังกล่าวนี้บ่งชี้ว่าพื้นฐานในค้าขายก็คืออนุญาต เว้นแต่จะมีตัวบทที่มาห้าม และการตลาดแบบเครือข่ายเป็นรูปแบบธุรกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ที่ไม่มีข้อห้าม

นักวิชาการที่เห็นด้วยกับทัศนะนี้บางคนได้จำกัดการอนุญาตการด้วยเงื่อนไขสามประการ คือ:

1. สินค้าต้องเป็นที่อนุญาตตามหลักการและเป็นที่รู้จักแพร่หลาย

2. กิจการของบริษัทต้องไม่ขัดต่อกฎหมายของรัฐ

3. ต้องปราศจากการฉ้อโกงและการหลอกลวงด้วยคำพูดและการกระทำ

ทัศนะที่สอง : เป็นทัศนะของนักวิชาการร่วมสมัยส่วนใหญ่ (ญุมฮูรอุละมาอ์) เห็นว่า : “ธุรกิจแบบเครือข่ายเป็นที่ต้องห้าม (ฮะรอม)” ซึ่งเป็นทัศนะที่มีน้ำหนักที่สุด ผู้เห็นด้วยกับทัศนะนี้ ได้แก่ สภานิติศาสตร์อิสลามของประเทศซูดาน ดารุลอิฟตาอฺของประเทศจอร์แดน ดารุลอิฟตาอฺของประเทศอียิปต์ คณะกรรมการถาวรเพื่อวินิจฉัยปัญหาแห่งประเทศซาอุดิอาระเบีย (ลัจนะฮ์ดาอิมะฮ์ฯ) เป็นต้น

โดยนำเสนอหลักฐานที่ห้าม ดังนี้

  1. ธุรกรรมดังกล่าวมีลักษณะของการเสี่ยงทายและการพนัน ซึ่งสิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งที่หลักการอิสลามได้สั่งห้ามนอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงและการหลอกลวง ดังที่อัลลอฮ์ตรัสในซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ อายะฮ์ที่ 90 ว่า :
    {يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِنَّمَا الْخَمْرُ وَالْمَيْسِرُ وَالْأَنْصَابُ وَالْأَزْلَامُ رِجْسٌ مِنْ عَمَلِ الشَّيْطَانِ فَاجْتَنِبُوهُ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ}
    ความว่า: “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย แท้จริงสุราและการพนันและแท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายัญ และการเสี่ยงทายนั้นเป็นสิ่งโสมมอันเกิดจากการกระทำของชัยฏอน ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสียเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ”

  2. ซึ่งธุรกรรมดังกล่าวนั้น ตัวผลิตภัณฑ์ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการทำธุรกรรม ผู้ที่เข้าร่วมลงทุนนั้นจ่ายเงินเพื่อแลกกับความเป็นไปได้ที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงหรือความเสี่ยงที่ขาดทุน

ในคำวินิจฉัยของดารุลอิฟตาอฺแห่งประเทศจอร์แดนระบุว่า: “วิธีการของการตลาดแบบเครือข่ายหรือแบบพีระมิด และการรับค่าตอบแทนดังกล่าวนั้นไม่ไช่การเป็นนายหน้าที่ถูกต้องตามหลักการ แต่ธุรกรรมดังกล่าวคือการพนัน และการเสี่ยงโชคที่เป็นที่ต้องห้าม ทั้งนี้เนื่องจากว่าว่าผู้เข้าร่วมมักจะไม่เข้าร่วม ยกเว้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการได้ค่าตอบแทนหรือของรางวัลในการนำลูกค้ารายอื่น ๆ เข้ามาสู่ธุรกิจนี้ ซึ่งตามเงื่อนไขของบริษัทนั้น สมาชิกจะได้รับค่าคอมมิชชั่นหรือส่วนแบ่งทางการตลาด โดยจำนวนเงินที่จะได้รับนั้นอาจมากหรือน้อยกว่าจำนวนเงินที่เขาจ่ายไปในตอนแรก และถ้าหากเขาไม่ประสบความสำเร็จในการหาสมาชิกหรือจำหน่ายสินค้า เขาจะสูญเสียเงินที่นำมาลงทุนและขาดทุนในที่สุด และมันก็มีความเป็นไปได้ที่ธุรกิจประเภทนี้จะเข้าข่ายในความไม่ชัดเจน คลุมเคลือ การหลอกลวงและเข้าข่ายการพนันอย่างชัดเจนอีกด้วย”


ซึ่งปัจจัยหลักในการห้ามธุรกรรมประเภทนี้ก็คือ การบังคับหรือวางเงื่อนไขในการเข้าร่วมหรือเป็นสมาชิกต้องจ่ายเงินล่วงหน้า ไม่ว่าจะโดยวิธีการสมัครสมาชิกหรือโดยการซื้อสินค้า(โดยไม่มีจุดประสงค์ในสินค้านั้นจริงๆ)

ในคำวินิจฉัยของคณะกรรมการถาวรเพื่อวินิจฉัยปัญหาแห่งประเทศซาอุดิอาระเบียระบุว่า:


“(ที่ธุรกรรมประเภทนี้เป็นที่ต้องห้าม) ทั้งนี้เนื่องจากว่าสมาชิกจะไม่รู้เลยว่าเขาจะประสบความสำเร็จในการหาจำนวนสมาชิกตามที่บริษัทต้องการได้หรือไม่..? และการตลาดแบบเครือข่ายหรือแบบลำดับชั้น (ปิรามิด) ถึงแม้ว่ายังสามารถดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆก็ต้องมีจุดอิ่มตัวหรือสิ้นสุดอยู่ดี และสมาชิกที่เข้ามาสู่ธุรกิจดังกล่าวจะไม่รู้เลยว่าในระบบเครือข่ายหรือห่วงโซ่นี้ เขาอยู่ในส่วนไหนของเครือข่าย อยู่บนยอดที่จะได้รับผลกำไรมหาศาลหรือไม่ หรืออยู่ชั้นล่างสุดที่จะขาดทุนหรือล้มเหลว..? ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสมาชิกส่วนใหญ่คือผู้ที่ขาดทุน นอกจากเพียงส่วนน้อยที่อยู่บนยอดเท่านั้นที่จะประสบผลสำเร็จหรือได้กำไร ซึ่งโดยส่วนใหญ่จากสมาชิกก็คือผู้ขาดทุน และนี่คือการหลอกลวงที่เกิดขึ้นจริงๆ และสิ่งดังกล่าวนี้(การหลอกลวง)คือสิ่งที่ท่านนบีได้สั่งห้ามใว้”

  1. ธุรกรรมดังกล่าวมีดอกเบี้ยทั้งสองประเภท (ริบาอัล-ฟัฏล์และริบาอัล-นาซีอาห์)
  • คำวินิจฉัยของคณะกรรมการถาวรเพื่อวินิจฉัยปัญหาแห่งประเทศซาอุดิอาระเบียระบุว่า:

  • “ธุรกรรมดังกล่าวสมาชิกหรือผู้เข้าร่วมจะจ่ายเงินจำนวนเล็กน้อยเพื่อแลกกับผลกำไรจำนวนมากที่คาดว่าจะได้รับ ดังกล่าวคือเงินแลกเงินที่มีส่วนต่างและมีระยะเวลามาเกี่ยวข้อง นี่คือดอกเบี้ยที่เป็นที่ต้องห้าม และสินค้าที่บริษัทขายให้กับลูกค้านั้นเป็นสิ่งที่อำพรางเพื่อแลกกับเงินที่ได้รับ และตัวผลิตภัณฑ์ก็ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการทำธุรกรรมจริงๆ”

การตลาดแบบเครือข่าย เป็นการเอาเงินของผู้คนอย่างไม่ยุติธรรม เนื่องจากเจ้าของบริษัทและผู้ที่อยู่บนสุดของปิรามิดคือผู้ที่ได้รับผลกำไรมหาศาลจากผู้ที่เป็นทีมลูกข่าย ซึ่งไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการได้ เนื่องจากตลาดเกิดการอิ่มตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคหมดไปหรือไม่มีสมาชิกมาเพิ่มเติมจากคนรู้จักหรือคนอื่นๆ

เข้าข่ายการฉ้อโกงและการหลอกลวงในการทำธุรกรรม โดยมีการพูดโฆษณาเกินจริงถึงประโยชน์ของสินค้า หรือดึงดูดสมาชิกใหม่ด้วยค่าคอมมิชชั่นจำนวนมากที่พวกเขาจะได้รับจากการเข้าร่วม

วิเคราะห็ปัจจัยต่างๆที่ส่งผลให้ธุรกิจแบบเครือข่ายเป็นที่ต้องห้าม

• ผู้สนับสนุนการตลาดแบบเครือข่ายอาจโต้แย้งว่านี่คือสิ่งใหม่ของการตลาดแบบเครือข่าย แต่ข้อเท็จจริงได้ยืนยันว่า มีองค์ประกอบที่จะทำให้เกิดการฉ้อโกงอย่างเด่นชัดในกระบวนการ โดยเริ่มจากเจ้าของบริษัทซึ่งไม่ได้มีเจตนาที่จะทำการค้า แต่ทว่าเป็นการลงทุนทางการเงิน และคอยกระตุ้นด้วยผลกำไรที่เพ้อฝันมากกว่าส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของตนเอง

• ปัจจัยสำคัญที่ธุรกรรมเป็นที่ต้องห้ามประกอบด้วยข้อห้ามสองประการคือ: การโกหกและการหลอกลวง สำหรับการหลอกลวงที่พบได้มากก็คือ มีการผสมผสานที่แปลกประหลาดระหว่างการซื้อสินค้าและการเข้าร่วมในผลกำไรของเครือข่าย และการรวมกันดังกล่าวนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการลวงผู้เข้ามาใหม่ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากพิจารณาจากเงื่อนไขดังกล่าวนี้ นับว่าป็นการหลอกลวงเป็นอย่างมาก ซึ่งจะนำไปสู่ผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กล่าวคือบริษัทจะได้รับผลประโยชน์จากราคาของสินค้า ผ่านทางการเป็นสมาชิกหรือตัวแทนด้วยกับราคาของสินค้าที่จะขาย และผู้เข้าร่วมอาจประสบความสำเร็จในการขายสินค้าที่เขาซื้อหรืออาจไม่ประสบกับการขาดทุนก็ได้ ซึ่งตัวผลิตภัณฑ์ก็ไม่ได้มีไว้สำหรับการหาลูกค้าใหม่ตั้งแต่ต้น และที่เขายังจ่ายเงิน(ด้วยมูลค่าของสินค้า) เพราะแผนกำไรการตลาดแบบเครือข่าย

• นักวิชาการที่ห้ามการทำตลาดแบบเครือข่ายได้นำเสนอปัญหาในธุรกรรมดังกล่าวว่า : เนื่องจากปรากฏรูปแบบดอกเบี้ยในเงื่อนไขของธุรกรรมนี้ โดยที่สมาชิกต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้ค่าคอมมิชชั่นที่มากขึ้น เป็นการจ่ายเงินเพื่อแลกเงินที่มีส่วนต่างมากขึ้น และสินค้าหรือตัวผลิตภัณฑ์ก็เป็นเพียงการอำพรางการดำเนินธุรกรรมดังกล่าวเพื่อให้คนเติมเงินเข้าไปในระบบ ซึ่งปัจจัยลักษณะจะพบได้ในรูปแบบการตลาดเครือข่ายแบบลำดับชั้น (ปิรามิด) ทั้งในยุคอดีตและปัจจุบัน.

ท่านร่อซูลุลลอฮ์ กล่าวว่า “แท้จริงสิ่งที่อนุมัตินั้นชัดแจ้ง สิ่งที่ต้องห้ามก็ชัดแจ้ง และในระหว่างทั้งสองสิ่งนั้นมีเรื่องที่คลุมเครือ ซึ่งผู้คนส่วนมากไม่รู้ ดังนั้น ผู้ใดรักษาตัวเขาจากสิ่งที่คลุมเครือนั้น เขาได้ชำระตัวเขาในการปกป้องศาสนาของเขาและเกียรติของเขา ส่วนที่ตกลงไปในการกระทำสิ่งที่คลุมเครือ เขาก็ได้ตกลงไปในเรื่องที่ต้องห้าม เช่นเดียวกับผู้ที่เลี้ยงปศุสัตว์รอบ ๆ ที่ดินที่ต้องห้ามไม่ช้ามันก็จะเข้าในที่นั้น จงจำไว้ว่า ผู้ปกครองทุกคนมีขอบเขตที่ต้องห้าม จงจำไว้เถิดว่า ที่อัลลอฮ์ทรงห้ามนั้น คือสิ่งที่พระองค์ไม่ทรงอนุมัติ จงจำไว้ว่า ในร่างกายนั้นมีเนื้อก้อนหนึ่ง เมื่อมันดีร่างกายนั้นก็ดีด้วย แต่เมื่อมันเสีย ร่างกายก็จะเสียไปด้วย จงจำไว้ว่ามันคือหัวใจ. (บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม )

Barker, M., Barker, D. I., Bormann, N. F., & Neher, K. E. (2012). Social media marketing: A strategic approach. Nelson Education.

https://mlmonline4life.blogspot.com/2011/01/blog-post_9283.html

https://www.aliftaa.jo/Research/102/%d8%a7%d9%84%d8%aa%d8%b3%d9%88%d9%8a%d9%82-%d8%a7%d9%84%d8%b4%d8%a8%d9%83%d9%8a#.YUd4n1UzaUl

https://www.alifta.gov.sa/home?View=Page&PageID=15192&CultStr=ar&PageNo=1&NodeID=1&BookID=3&


อ่านบทความอื่นๆ

ดูตามหมวดหมู่

ดูตามคำค้น

รอมฏอน ละหมาด