การละหมาดของคนเดินทาง

หมวดหมู่ : ,

·

·

การละหมาดของคนเดินทาง
เรียบเรียงโดย มุบาร็อก  แดงโกเมน

อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

وَإِذَا ضَرَبۡتُمۡ فِي ٱلۡأَرۡضِ فَلَيۡسَ عَلَيۡكُمۡ جُنَاحٌ أَن تَقۡصُرُواْ مِنَ ٱلصَّلَوٰةِ إِنۡ خِفۡتُمۡ أَن يَفۡتِنَكُمُ ٱلَّذِينَ كَفَرُوٓاْۚ  ﴾ [النساء : ١٠١] ﴿

ความว่า“และเมื่อพวกเจ้าเดินทางไปในผืนแผ่นดินก็ไม่เป็นบาปใด ๆ แก่พวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะลดลงจากการละหมาด หากพวกเจ้ากลัวว่าบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาจะข่มเหงรังแกพวกเจ้า” (อัน-นิสาอฺ :101)

ท่านอิมามอิบนุกะษีรอธิบายว่า “หมายถึงท่านได้เดินทางไปยังเมือง” (ตัฟซีรอิบนิกะษีร เล่ม1/หน้า 4847)

ท่านยะอฺลา บินอุมัยยะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า

« قُلْتُ لِعُمَرَ بْنِ الْخَطَّابِ: ﴿ وَإِذَا ضَرَبۡتُمۡ فِي ٱلۡأَرۡضِ فَلَيۡسَ عَلَيۡكُمۡ جُنَاحٌ أَن تَقۡصُرُواْ مِنَ ٱلصَّلَوٰةِ إِنۡ خِفۡتُمۡ أَن يَفۡتِنَكُمُ ٱلَّذِينَ كَفَرُوٓاْۚ  ﴾ [النساء : ١٠١] فَقَدْ أَمِنَ النَّاسُ، فَقَالَ: عَجِبْتُ مِمَّا عَجِبْتَ مِنْهُ، فَسَأَلْتُ رَسُولَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَنْ ذَلِكَ، فَقَالَ «صَدَقَةٌ تَصَدَّقَ اللهُ بِهَا عَلَيْكُمْ، فَاقْبَلُوا صَدَقَتَهُ» » [أخرجه مسلم]

 ความว่า“ฉันได้กล่าวแก่อุมัร บินอัล-ค็อฏฏอบ ว่า “[และเมื่อพวกเจ้าเดินทางไปในผืนแผ่นดินก็ไม่มีบาปใด ๆ แก่พวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะลดลงจากการละหมาด หากพวกเจ้ากลัวว่าบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาจะข่มเหงรังแกพวกเจ้า]  ผู้คนก็ได้ปลอดภัยแล้วนี่” แล้วเขาก็กล่าวว่า “ฉันก็เคยแปลกใจเหมือนที่ท่านแปลกใจจากเรื่องนี้ แล้วฉันก็ได้ถามท่านเราะสูลุลลอฮฺ ถึงเรื่องดังกล่าว แล้วท่านก็กล่าวว่า “คือซอดอเกาะที่อัลลอฮ์ทรงบริจาคมันแก่พวกท่าน ดังนั้น พวกท่านก็จงรับซอดอเกาะของพระองค์เถิด””  บันทึกโดยมุสลิม

ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ได้เล่าว่า

« فُرِضَتِ الصَّلَاةُ رَكْعَتَيْنِ رَكْعَتَيْنِ فِي الْحَضَرِ وَالسَّفَرِ، فَأُقِرَّتْ صَلَاةُ السَّفَرِ، وَزِيدَ فِي صَلَاةِ الْحَضَرِ »

ความว่า“การละหมาดได้เคยถูกบังคับให้ทำทีละสองทีละสองร็อกอะฮฺทั้งในยามปกติและยามเดินทางแล้วมันก็ถูกคงมันไว้(ตามเดิม)ในละหมาดเดินทาง และถูกเพิ่มขึ้นในละหมาดปกติ” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

ท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้เล่าว่า

« فَرَضَ اللهُ الصَّلَاةَ عَلَى لِسَانِ نَبِيِّكُمْ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِي الْحَضَرِ أَرْبَعًا، وَفِي السَّفَرِ رَكْعَتَيْنِ، وَفِي الْخَوْفِ رَكْعَةً » [أخرجه مسلم]

ความว่า“อัลลอฮฺทรงบังคับการละหมาดโดยทางคำกล่าวของนบีของพวกท่านในยามอยู่กับที่ 4 ร็อกอะฮฺ และในยามเดินทาง 2 ร็อกอะฮฺ และยามหวาดกลัว(ยามสงคราม) 1 ร็อกอะฮฺ”  (บันทึกโดยมุสลิม)

ท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า

« خَرَجْنَا مَعَ النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مِنَ المَدِينَةِ إِلَى مَكَّةَ فَكَانَ يُصَلِّي رَكْعَتَيْنِ رَكْعَتَيْنِ حَتَّى رَجَعْنَا إِلَى المَدِينَةِ، قُلْتُ: أَقَمْتُمْ بِمَكَّةَ شَيْئًا؟ قَالَ: أَقَمْنَا بِهَا عَشْرًا » [متفق عليه]

“พวกเราได้ออกไปกับท่านนบีจากมะดีนะฮฺไปยังมักกะฮฺ ท่านได้ละหมาดทีละสองร็อกอะฮฺสองร็อกอะฮฺ จนกระทั้งพวกเราได้กลับมาถึงมะดีนะฮฺ ฉันกล่าวถามว่า แล้วพวกท่านได้อยู่ที่มักกะฮฺนานแค่ไหนเล่า? เขากล่าวตอบกว่า พวกเราอยู่ที่มักกะฮฺ 10 วัน”  (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม)พะพพพพพด

*เงื่อนไขการเดินทางที่อนุญาตให้ย่อและรวมละหมาด*

เงื่อนไขที่หนึ่ง :
  การเดินทางจะต้องเป็นการเดินทางไกลถึงระยะทางประมาณ  83 กิโลเมตรขึ้นไป ท่านอิบนุอุมัรและอิบนุอับบาสได้ย่อละหมาดและได้ละศีลอดในระยะทางสี่บะรีด คือสิบหกฟัรซัค ซึ่เท่ากับ  83  กิโลเมตร  โดยประมาณ

*** ระยะทางเท่าไรที่เราจะละหมาดย่อได้…?

ประเด็นระยะทางที่จะย่อละหมาดได้นั้น บรรดาอุละมาอ์มีความเห็นแตกต่างกันออกเป็น 3 ความเห็น
         ทัศนะที่หนึ่ง  ต้องมีระยะทาง 48 ไมล์ หรือ 85 กิโลเมตร ซึ่งเป็นทัศนะของอิบนุอุมัร อิบนุอับบาส อะหฺมัด อิสหาก และอบูเษารฺ
         ทัศนะที่สอง  การเดินทางนั้นต้องใช้เวลา 3 วัน 3 คืน โดยการขี่อูฐ นี่เป็นทัศนะของ อิบนุมัสอูด อัชชะอฺบียฺ อันนะคออียฺ อัษเษารียฺ และเป็นทัศนะของมัซฮับ ฮะนะฟียฺ
         ทัศนะที่สาม  ไม่มีระยะทางที่แน่นอน แต่จะละหมาดย่อได้ตราบที่อยู่ในความหมายของคำว่า ?การเดินทาง? ทัศนะนี้เป็นของชัยคุล อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ และศิษย์ของท่านคืออิบนุล กอยยิม
         ทัศนะที่ชัดเจนที่สุด
            ทัศนะที่สามนับว่ามีน้ำหนักที่สุด โดยนำการย่อละหมาดไปผูกกับความหมายของการเดินทาง ดังนั้นไม่ว่าจะเดินทางใกล้หรือไกลหากว่าในทางประเพณีปฏิบัติหรือความเคยชินของประชาชนรู้สึกว่ามันเป็นการเดินทาง ก็สามารถละหมาดย่อได้ และที่ไม่กำหนดระยะทางหรือเวลาที่ใช้เดินทางให้แน่นอน ก็เพราะแต่ละยุคสมัยจะมีความแตกต่างกันในเรื่องความก้าวหน้าของยวดยานพาหนะ

เงื่อนไขที่สอง :
            การเดินทางนั้นจะต้องมีจุดหมายปลายทางที่แน่นอน ดังนั้นจะไม่พิจารณาการเดินทางของคนที่ไม่มีจุดหมายปลายทาง  และไม่พิจารณาการเดินทางของผู้ที่ติดตามผู้นำซึ่งไม่รู้ว่าผู้นำจะไปที่ใหนหมายความว่าก่อนที่เขาจะเดินทางในระยะทางที่ไกล แต่ถ้าหากเขาเดินทางได้ระยะทางที่ไกลแล้วเขาก็ย่อละหมาดได้เพราะมั่นใจแล้วว่าเป็นการเดินทางไกล
เงื่อนไขที่สาม :
            การเดินทางนั้นจะต้องไม่มีเป้าหมายในทางที่เป็นความชั่ว ถ้าหากเป็นการเดินทางเพื่อเป้าหมายดังกล่าว ก็ไม่ถือเป็นการเดินทางที่อนุญาตให้รวมและย่อละหมาด เช่น คนที่เดินทางเพื่อค้าขายสุราหรือเพื่อกิจการที่มีดอกเบี้ยหรือเพื่อปล้นสดมภ์ตามทาง  เพราะการย่อละหมาดนั้นเป็นข้อผ่อนผันและข้อผ่อนผันนั้นบัญญัติขึ้นมาเพื่อการภักดี 

** ละหมาดของคนเดินทางเป็นอย่างไร …?:
อัลลอฮุตะอาลาได้ผ่อนผันแก่คนเดินทางในเรื่องละหมาดของเขาสองประการคือ :
1. หนึ่ง : ย่อจำนวนร็อกอัตของละหมาด  เรียกว่า  “กอสร์”
2. สอง : รวมสองละหมาดมาปฏิบัติในเวลาละหมาดเดียวกัน   เรียกว่า “ญัมอฺ”
*หนึ่ง :  ย่อละหมาด
            คือการย่อละหมาดชนิดที่มีสี่รอกาอัต  เช่น  ดุห์ริ , อัสริ , และอิชาอฺ  เหลือเพียงสองร็อกอัต ดังรายงานจาก อิมรอน บุตรของ ฮุซอยน์ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮู่ กล่าวถึงท่านนบี  ว่า  “แท้จริงท่านนบี อยู่มักกะห์ในช่วงพิชิตมักกะห์ สิบแปดวัน ได้ทำการนำละหมาดให้แก่ผู้คน ทีละสองร็อกอะห์(หมายถึง ย่อละหมาด)ยกเว้นเวลามักริบ จากนั้นท่านกล่าวว่า“โอ้ชาวมักกะห์เอ๋ย ยืนขึ้นละหมาดอีกสองร็อกอะห์เถิด เพราะว่าพวกเราคือกลุ่มผู้เดินทาง(จึงละหมาดย่อกัน)

         อนึ่ง** มีฮะดีษหลายฮะดีษที่รายงานเกี่ยวกับการย่อละหมาดและรวมของท่านนบีในหลายบริบทและจำนวนวันเวลาของการเดินทางและพำนักอยู่ที่แตกต่างกัน

การย่อละหมาดใช้ได้จำเป็นจะต้องรักษาเงื่อนไขต่าง ๆ ต่อไปนี้ :
            1. ละหมาดนั้นตกหนักอยู่กับตัวเขาขณะเดินทาง ,คือสามารถย่อละหมาดได้เมื่อเดินทางแล้วเท่านั้น, ดังนั้นจะไม่ยินยอมให้ผู้เดินทางย่อละหมาดดังกล่าวเพราะเขายังไม่ได้เป็นผู้เดินทาง  แต่เมื่อเขากลับสู่ภูมิลำเนาของเขาก็ไม่ยินยอมให้เขาย่อละหมาดเพราะเขาไม่ใช่เป็นผู้เดินทางแล้ว และเพราะการย่อละหมาดนั้นยินยอมให้แก่ผู้ที่เดินทางเท่านั้น
            2. เขาจะต้องพ้นเขตกำแพงเมืองที่เขาเดินทางออกไปพ้นเขตชุมชน  ถ้าหากเมืองนั้นไม่มีกำแพง เพราะถือว่าผู้ที่ยังอยู่ในกำแพงหรืออยุ่ในเขตชมชนไมใช่เป็นผู้เดินทาง  หมายความว่า  การเดินทางจะเริ่มต้นตั้งแต่พ้นเขตดังกล่าว เช่นเดียวกับการสิ้นสุดการเดินทาง  เมื่อผู้เดินทางกลับมาถึงเขตดังกล่าว เขาก็จะย่อละหมาดไม่ได้ รายงานจากอะนัส ว่า : ฉันได้ละหมาดดุห์ริกับท่านนบี ที่มะดีนะฮ์สี่รอกาอัตและละหมาดอัสริที่ซุ้ลฮุลัยฟะห์สองรอกาอัต (บันทึกโดยบุคอรีและมุสลิม)

            3.  ผู้เดินทางจะต้องไม่ตั้งเจตนาพำนักอยู่เป็นเวลาสี่วัน  นอกจากวันที่เดินทางเข้าและเดินทางออกในถิ่นที่เขาเดินทางไป ถ้าหากเขาตั้งเจตนาเช่นนั้นเมื่อที่เขาเดินทางไปนั้นก็จะกลายเป็นภูมิลำเนาและถิ่นพำนักของเขาที่จะไม่ยินยอมให้เขาย่อละหมาดในเมืองนั้น  สิทธิการย่อละหมาดสำหรับเขาจะคงอยู่เฉพาะขณะเดินทางเท่านั้นสำหรับกรณีที่ผู้เดินทางตั้งเจตนาจะพำนักอยู่น้อยกว่าสี่วันหรือเขาไม่รู้จะพำนักอยู่ในเมืองนั้นกี่วันเพื่อทำงานบางอย่างที่เขาก็ไม่รู้ว่าจะทำเสร็จเมื่อไหร่ ให้เขาย่อละหมาดได้ในกรณีแรกจนกว่าเขาจะกลับเข้าเขตชุมชนในถิ่นเดิมของเขา
            4.  จะต้องไม่ละหมาดตามผู้ที่ไม่ได้เดินทาง
            ดังนั้นถ้าหากผู้ที่เดินทางละหมาดตามผู้ไม่ได้เดินทาง  เขาก็จำเป็นจะต้องละหมาดให้ครบสมบูรณ์จะย่อละหมาดไม่ได้ส่วนในกรณีกลับกันไม่มีข้อห้ามที่เขาจะย่อละหมาด คือผู้เดินทางเป็นอิมามนำละหมาดผู้ไม่ได้เดินทาง ยินยอมให้ผู้เดินทางย่อละหมาดได้  
*สอง :  รวมละหมาด
            รายงานจากอิบนิอับบาส ได้กล่าวว่า : ท่านรอซูลุลอฮ ได้รวมละหมาดดุห์ริกับละหมาดอัสริเมื่อท่านอยู่ระหว่างเดินทางและรวมละหมาดมัฆริบกับอิชาอฺ” (บันทึกโดยบุคอรี)
            สามารถรวมดุฮริและอัศริในเวลาของดุฮริ และรวมดุฮริกับอัศริในเวลาอัศริ มักริบกับอิชาอฺในเวลามักริบและรวมมักริบกับอิชาอฺในเวลาของอิชาอฺ

** การรวมละหมาดอัศริหลังจากละหมาดวันศุกร์**

ในประเด็นนี้มีความเห็นต่างออกเป็น 2 ทัศนะด้วยกัน

* ทัศนะแรกเห็นว่า ไม่อนุญาตให้รวมละหมาดอัศริในเวลาละหมาดวันศุกร์ โดยให้ความเห็นดังนี้

            1.ไม่มีหลักฐานสั่งใช้ในเรื่องนี้       

            2. การละหมาดฟัรฎูนั้นมีเวลาที่แน่นอนตายตัว อนุญาตให้รวมละหมาดดุฮริและอัศริในเวลาของดุฮริ และรวมดุฮริกับอัศริในเวลาอัศริได้ แต่ไม่อนุญาตให้รวมกับละหมาดวันศุกร์ เนื่องจากวันศุกร์เป็นการละหมาดที่เป็นเอกเทศและเป็นคนละเวลากับละหมาดฟัรฎู และการละหมาดในเวลาที่ไม่ไช่เวลาของมันนั้นละหมาดถือว่าใช้ไม่ได้ คนที่เดินทางแล้วไปละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดต้องไปละหมาดอัศริในเวลาอัศริเท่านั้น (ดูมัจมูอฺฟะตาวาของเชคอิบนิอุซัยมีนเล่ม15หน้า 371-375) ท่านเชคบินบาซก็เห็นด้วยในทัศนะนี้ (ดูมัจมูอฺฟะตาวา เล่ม 30หน้า215) และเห็นตรงกันกับมัซฮับฮัมบาลี  

* ทัศนะที่สองเห็นว่า อนุญาตให้รวมละหมาดอัศริในเวลาละหมาดวันศุกร์ โดยให้ความเห็นดังนี้.

            1. ละหมาดวันศุกร์ก็คือเวลาเดียวกับการละหมาดดุฮฺริ และเวลาอัศริก็ไม่เปลี่ยนแปลง ฉะนั้นแล้วก็สามารถเอาละหมาดที่อยู่หลังมารวมกับการละหมาดที่อยู่ก่อนหน้าได้

            2. เป็นการผ่อนปรนความลำบากให้แก่ผู้ที่เดินทางโดยที่ไม่ต้องไปละหมาดวันศุกร์ ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่ผู้เดินทางได้รับ แล้วทำไมละการรวมอัศริกับวันศุกร์ถึงทำไม่ได้

            3. อิมามนะวะวีย์กล่าวว่าอนุญาตให้รวมอัศริกับละหมาดวันศุกร์ได้ (อัลมัจมูอฺเล่ม 4หน้า 237)

ทัศนะนี้ป็นทัศนะของมัซฮับซาฟิอี (ดูมัจมูอฺ เล่ม 4 หน้า383) และทัศนะของมัซฮับมาลิกี (ดูมันฮุลญะลีล เล่ม 1หน้า424-425 และฮาชิยฮ์อัลอัดวีย์ เล่ม 2 หน้า72-73) เช่นเดียวกับอิมามซุยูฏี อิมามซัรกะซีย์ และเชคอัลบานีย์กับเชคซอและฮ์อัลลุฮัยดานก็เห็นด้วยกับทัศนะนี้

** ประเด็นที่ควรทราบ **

1.ละหมาดวันศุกร์ไม่จำเป็นสำหรับผู้ที่เดินทาง

2. เวลาของการละหมาดวันศุกร์ก็คือเวลาละหมาดดุฮริ

*** ประเด็นย่อย ***

         * สิ่งที่ชี้ขาดในเรื่องการย่อละหมาดคือคำนึงถึงสถานที่เป็นหลักไม่ใช่เวลา ฉะนั้นเมื่อผู้เดินทางลืมว่าตัวเองยังไม่ได้ละหมาดเวลาใดเวลาหนึ่งเมื่อตอนที่อยู่บ้านแล้วนึกขึ้นได้ในขณะที่ตัวเองเดินทางอยู่ก็ให้เขา  ละหมาดชดเวลาที่เขาลืมนั้นด้วยการย่อได้และหากลืมว่าตัวเองยังไม่ได้ละหมาดเวลาใดเวลาหนึ่งตอนที่เดินทางแล้วนึกขึ้นได้เมื่อกลับถึงบ้านแล้วก็ให้เขาละหมาดชดเวลานั้นๆให้เต็มจำนวนโดยไม่ต้องย่อ

            * เมื่อผู้เดินทางจาเป็นต้องอาศัยอยู่ในที่หนึ่งแต่ไม่ได้มีเจตนาอยู่อย่างถาวรหรือคิดที่จะอยู่จนกว่าเสร็จธุระแต่ไม่ได้มีเจตนาจะอยู่อย่างถาวรให้เขาทำการย่อและรวมได้ตลอดไม่ว่าจะใช้เวลานานเท่าใดก็ตาม

            * เมื่อเข้าเวลาละหมาดแล้วเขาก็เริ่มออกเดินทางให้เขาทำการย่อและควบรวมในระหว่างทางได้แต่หากถึงเวลาละหมาดในขณะที่เขากำลังเดินทางอยู่จากนั้นเขาได้กลับถึงภูมิลาเนาก็ให้เขาละหมาดเวลานั้นเต็มจำนวนเราะกะอัตจะควบรวมและย่อไม่ได้อีก

           * ในระหว่างเดินทางแล้วไม่ต้องละหมาดสุนัตใดๆ แต่หากจะละหมาดตะฮัจยุด ก็สามารถทำได้

            * ฮุก่มสำหรับผู้ที่เดินทางตลอดทั้งปี อนุญาตให้กัปตันเครื่องบินเรือคนขับรถยนต์รถไฟและผู้ที่เดินทางตลอดเวลาอนุญาตให้เขาใช้สิทธิ์ผ่อนปรนได้ไม่ว่าจะเป็นการย่อละหมาดการควบรวมละหมาดการละศีอลดการเช็ดบนรองเท้าคุฟฺ เป็นต้น

            * ฮุก่มการอะซานและอิกอมะฮฺในขณะเดินทาง  ผู้ใดประสงค์จะทาการควบรวมระหว่างละหมาดซุฮฺริกับอัศริหรือมัฆฺริบกับอิชาอ์ให้เขาอะซานแล้วอิกอมะฮฺหลังจากนั้นจึงละหมาดฟัรฎูแรกให้เสร็จแล้วให้อิกอมะฮฺอีกครั้งหลังจากนั้นจึงละหมาดฟัรฎูที่สองต่อไป
** การรวมละหมาดในขณะฝนตก **
            ยินยอมให้รวมสองละหมาดในเวลาแรกในขณะฝนตก
**เงื่อนไขในการรวมละหมาด  มีดังต่อไปนี้
1.  ต้องเป็นละหมาดญะมาอะฮ์ ในมัสยิดที่อยู่ห่างไกลและมุสลิมจะได้รับความเดือนร้อนด้วยน้ำฝนขณะเดินตามทางไปและกลับจากมัสยิด
2.  ฝนจะต้องตกอยู่ในตอนเริ่มต้นของละหมาดทั้งสองและขณะที่สลามจากละหมาดแรก


อ่านบทความอื่นๆ

ดูตามหมวดหมู่

ดูตามคำค้น

รอมฏอน ละหมาด