บทเรียนวิชาการอิสลาม ศูนย์อิสลามศึกษามัสยิดดาริสสลาม
ประจำวันเสาร์ที่ 11 มิ.ย 2565
วิชาอะฮ์วาลชัคซียะฮ์ (الاحوال الشخصية)
อ.มุบาร็อก แดงโกเมน
วิชาอะฮ์วาลชัคซียะฮ์ คืออะไร…? อะฮ์วาลชัคซียะฮ์ คือ องค์ความรู้ที่ว่าด้วยเรื่อง สถานภาพของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกันตามหลักการของอิสลาม และประเด็นที่ควบคุมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว รวมทั้งบทบัญญัติของการหมั้น การแต่งงาน สินสอดทองหมั้น ค่าเลี้ยงดู และหน้าที่ของภริยาและสามีที่พึงมีต่อกัน การหย่าร้าง การไกล่เกลี่ยปัญหาและข้อขัดแย้งของผู้พิพากษาระหว่างคู่สมรส การสืบเชื้อสาย , การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, การดูแลเด็ก, มรดก, พินัยกรรมและการบริจาค ปัญหาสถานภาพส่วนบุคคลรวมถึงเรื่องการเงินบางอย่าง เช่น มรดก พินัยกรรม และการบริจาค ซึ่งอาจจะเรียกได้อีกชื่อว่า ฟิกฮุลอุสเราะฮ์หรือกฎหมายครอบครัวและมรดก
บทที่ 1
เรื่อง การหมั้นหมาย (الخِطبة)
- การหมั้น คือการที่ฝ่ายชายแสดงเจตจำนงค์ว่าจะทำการสมรสกับฝ่ายหญิงในอนาคต โดยแจ้งให้ผู้ปกครองของฝ่ายหญิงทราบ
- หลักฐานจากอัลกุรอาน อัลลอฮ์ทรงตรัสไว้ในซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะ อายะฮ์ที่ 235 ว่า
وَلَا جُنَاحَ عَلَيۡكُمۡ فِيمَا عَرَّضۡتُم بِهِۦ مِنۡ خِطۡبَةِ ٱلنِّسَآءِ أَوۡ أَكۡنَنتُمۡ فِيٓ أَنفُسِكُمۡۚ عَلِمَ ٱللَّهُ أَنَّكُمۡ سَتَذۡكُرُونَهُنَّ وَلَٰكِن لَّا تُوَاعِدُوهُنَّ سِرًّا إِلَّآ أَن تَقُولُواْ قَوۡلٗا مَّعۡرُوفٗاۚ وَلَا تَعۡزِمُواْ عُقۡدَةَ ٱلنِّكَاحِ حَتَّىٰ يَبۡلُغَ ٱلۡكِتَٰبُ أَجَلَهُۥۚ وَٱعۡلَمُوٓاْ أَنَّ ٱللَّهَ يَعۡلَمُ مَا فِيٓ أَنفُسِكُمۡ فَٱحۡذَرُوهُۚ وَٱعۡلَمُوٓاْ أَنَّ ٱللَّهَ غَفُورٌ حَلِيمٞ
ความว่า: และไม่มีบาปใดๆ แก่พวกเจ้า ในสิ่งที่พวกเจ้ากล่าวเป็นนัยในการขอหญิง และสิ่งที่พวกเจ้าเก็บงำไว้ในใจของพวกเจ้า อัลลอฮ์ทรงรู้ว่าพวกเจ้าจะบอกกล่าวแก่นางให้ทราบแต่ทว่าพวกเจ้าอย่าได้สัญญาแก่นางเป็นการลับ นอกจากพวกเจ้าจะกล่าวถ้อยคำอันดีเท่านั้น และจงอย่าปลงใจซึ่งการทำพิธีแต่งงาน จนกว่าเวลาที่ถูกกำหนดไว้จะบรรลุถึงความสิ้นสุดของมัน และพึงรู้เถิดว่าแท้จริงอัลลอฮ์ทรงรู้สิ่งที่อยู่ในจิตใจของพวกเจ้า พวกเจ้าจงสังวรณ์พระองค์ไว้เถิด และพึงรู้ไว้เถิดว่า อัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษผู้ทรงหนักแน่น.
- หลักฐานจากซุนนะฮ์ มีรายงานจากท่าน มุฆีเราะฮ์ บุตรของ ชัวอฺบะฮ์ ได้เล่าว่า:
أتَيتُ النَّبِيَّ صلَّى اللَّهُ عليْهِ وسلَّمَ فذَكرتُ لَهُ امرأةً أخطبُها فقالَ
اذْهب فانظر إليْها فإنَّهُ أجدرُ أن يؤدمَ بينَكُما
ความว่า: ฉันได้มาหาท่านนบี ﷺ และกล่าวให้ท่านฟังถึงหญิงคนหนึ่งที่ฉันจะหมั้นหมายกับเธอ ท่านนบีจึงกล่าวขึ้นว่า: “ท่านจงไปหานางและมองดูนางเถิด เพราะมันคือสิ่งควรค่า ที่ทำให้เกิดความรักกันระหว่างท่านทั้งสอง”[1] กล่าวคือ คู่หมั้นสามารถที่จะมองดูใบหน้าของอีกฝ่ายได้ก่อนแต่งงาน(โดยมีมะฮ์รอมของฝ่ายหญิงอยู่ด้วย) ซึ่งสิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งหนึ่งที่นำไปสู่ความสนิทสนมและความรักระหว่างกัน.
- ฮิกมะฮ์ของการหมั้นหมาย คือ เพื่อให้เกิดความสนิทสนม เกิดการทำความรู้จักและรู้ธรรมชาติของบุคคลที่จะแต่งงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะนิสัย คุณธรรม ความเคร่งครัดต่อหลักการ นิสัยและบุคลิกของคนในครอบครัว เป็นต้น
- ประเภทต่างๆของการหมั้นหมาย
- การหมั้นหมายมีสองประเภทคือ:
1. แบบชัดเจน: คือ การที่ฝ่ายชายแสดงเจตจำนงค์อย่างชัดเจนว่าจะทำการสมรสกับฝ่ายหญิงในอนาคต ด้วยถ้อยคำที่ชัดเจน เช่น ฉันต้องการแต่งงานกับเธอ เป็นต้น
2. แบบอ้อมๆ: คือ การที่ฝ่ายชายแสดงเจตจำนงค์ว่าพอใจนาง แต่ไม่ได้เอ่ยอย่างชัดเจน แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ เช่น เขากล่าวว่า เธอเป็นสตรีที่ดีมากนะ หรือเธอเป็นสตรีที่คู่ควรที่จะแต่งงานด้วย หรือกล่าวว่าสตรีแบบนี้ละที่ฉันตามหา เป็นต้น หรือคำพูดอื่นๆที่แสดงถึงเจตนาที่ฝ่ายชายต้องการแต่งงานกับนาง
- เงื่อนไขของการหมั้นหมาย (الخِطبة)
- สตรีที่ฝ่ายชายต้องการหมั้นหมายนั้น ต้องไม่หมั้นกับชายอื่นอยู่ก่อนแล้ว ดังที่ท่านนบีได้กล่าวว่า:
ولا يَخْطُبَ الرَّجُلُ علَى خِطْبَةِ أخِيهِ، حتَّى يَتْرُكَ الخاطِبُ قَبْلَهُ أوْ يَأْذَنَ له الخاطِبُ )) ))
ความว่า: และคนหนึ่งอย่าได้ทำการหมั้นซ้อนกับสตรีที่คนอื่นหมั้นหมายอยู่ก่อนแล้ว จนกว่าเขาผู้นั้นจะปล่อยนางไป(ยุติการหมั้นหมาย)หรือได้รับอนุญาตจากเขา
2.สตรีที่ฝ่ายชายต้องการหมั้นหมายนั้น ต้องปราศจากสิ่งที่หลักการของศาสนาห้าม (มะฮ์รอม) คือสตรีถูกห้ามไม่ให้แต่งงานกับฝ่ายชายไม่ว่าจะถาวรหรือชั่วคราว เช่น พี่สาวของภรรยา ภรรยาของผู้อื่น เป็นพี่น้องร่วมแม่นมคนเดียวกันหรือมีศาสนาแตกต่างกัน และสตรีที่อยู่ในช่วงอิดดะฮ์
- รายละเอียดและประเด็นอื่นๆ ต่อครั้งหน้า…….อินชาอัลลอฮ์
[1] บันทึกโดย อิบนิมาญะฮ์ เลขที่ 1524